ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เส้นทาง "ศรีเทพ" สู่มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย

สังคม
19 ก.ย. 66
14:09
11,522
Logo Thai PBS
เส้นทาง "ศรีเทพ" สู่มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังการค้นพบ "เมืองโบราณศรีเทพ" เมื่อ 118 ปีก่อน โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สู่การบูรณะเป็นโบราณสถานมาอย่างยาวนาน และใช้เวลา 4 ปีเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทยในรอบ 30 ปี

ถือเป็นข่าวที่คนไทย โดยเฉพาะชาวเพชรบูรณ์ได้ร่วมกันแสดงความยินดี หลังที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10-25 ก.ย.นี้ ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประกาศขึ้นทะเบียน "เมืองโบราณศรีเทพ" อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย

ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ.2447 ประมาณ 118 ปีที่ผ่านมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ ที่ถูกทิ้งร้างอยู่กลางป่า ซึ่งเดิมชาวบ้านเรียกว่า เมืองอภัยสาลี ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเมืองวิเชียรบุรีนั้น มีชื่อเดิมว่า เมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพจึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า ชื่อเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า "เมืองศรีเทพ"

โบราณสถานเขาคลังนอก หนึ่งในโบราณสถานศรีเทพ มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่

โบราณสถานเขาคลังนอก หนึ่งในโบราณสถานศรีเทพ มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่

โบราณสถานเขาคลังนอก หนึ่งในโบราณสถานศรีเทพ มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่

ต่อมากรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ และพัฒนาจนกระทั่ง จัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2527

ตลอดเวลาดังกล่าวได้มีการศึกษาวิจัย โดยนักวิชาการทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้ จึงมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพอย่างต่อเนื่อง

เส้นทางสู่การขึ้นทะเบียน เมืองโบราณศรีเทพ และแหล่งต่อเนื่องนำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่

  • เมืองโบราณศรีเทพ
  • โบราณสถานเขาคลังนอก
  • โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์

ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ด้วยเกณฑ์ข้อที่ 2 คือความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่งหรือในพื้นที่ในวัฒนธรรมใดๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์

การวางแผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์และเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยมหรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส.ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประชุมมรดกโลกครั้งที่ 45 กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส.ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประชุมมรดกโลกครั้งที่ 45 กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส.ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประชุมมรดกโลกครั้งที่ 45 กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

4 ปีสู่มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 

กระทั่งนำไปสู่การเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม (Tentative List) เมื่อพ.ศ.2562 และจัดทำเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกฉบับสมบูรณ์แล้วเสร็จ นำส่งยังศูนย์มรดกโลกเมื่อ 28 ก.พ.2565 

ต่อมาสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจประเมินเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 12-17 ก.ย.2565 

เมื่อผ่านการตรวจประเมินของผู้เชี่ยวชาญแล้ว เมืองโบราณศรีเทพจึงได้ถูกบรรจุเข้าในวาระการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10-25 ก.ย.นี้ ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย

เร่งทำแผนแม่บทพัฒนามรดกโลกศรีเทพ

อย่างไรก็ตาม ภารกิจของรัฐบาล ยังไม่สิ้นสุดเพียงการเฉลิมฉลองการประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกเท่านั้น กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ ศรีเทพ เพื่อรองรับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพภายหลังจากการได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก

โดยแผนดังกล่าวได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ และการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่อง การอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แผนบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การจัดทำแผนชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และ การจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์ ทั้งเรื่องการอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์

สติกเกอร์แผ่นพับที่ระลึกเมืองโบราณศรีเทพ แจกในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ซาอุดีอาระเบีย

สติกเกอร์แผ่นพับที่ระลึกเมืองโบราณศรีเทพ แจกในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ซาอุดีอาระเบีย

สติกเกอร์แผ่นพับที่ระลึกเมืองโบราณศรีเทพ แจกในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ซาอุดีอาระเบีย

30 ปีมรดกโลกแห่งที่ 4 ของไทย 

สำหรับแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย ก่อนหน้านี้เคยมีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไว้ 3 แหล่ง ได้แก่ 

  1. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2534
  2. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และ กำแพงเพชร เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2534
  3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี 2535

ดังนั้นการขึ้นทะบียนมรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ แห่งที่ 4 จึงห่างกันนานถึง 30 ปี

นอกจากนี้ปัจจุบันประเทศไทยได้นำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลก (Tentative List) ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2567 ดังนี้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี 

ทั้งนี้การประชุมครั้งนี้ ทีมประเทศไทยได้จัดทำแผ่นพับสติกเกอร์เมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งประเทศไทยนำไปแจกในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10-25 ก.ย.นี้ ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย 

อ่านข่าว

ร่วมลุ้น! “เมืองโบราณศรีเทพ” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

โค้งสุดท้าย! ”เมืองโบราณศรีเทพ” ก่อนขึ้นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่

รู้จัก “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” ก่อนเป็นมรดกโลก

ภาพประวัติศาสตร์ 5 ปี บูรณะ "เขาคลังนอก" ก่อนเป็นมรดกโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง