ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มุมมองอวกาศ GISTDA เปิดภาพ "โบราณสถานศรีเทพ" มรดกโลก

สิ่งแวดล้อม
19 ก.ย. 66
18:38
10,698
Logo Thai PBS
มุมมองอวกาศ GISTDA เปิดภาพ "โบราณสถานศรีเทพ" มรดกโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
GISTDA เปิดภาพจากดาวเทียม WorldView-3 ร่วมยินดี "เมืองโบราณศรีเทพ" อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว

ภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 45 รับรอง "เมืองโบราณศรีเทพ" อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพขึ้นทะเบียนมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย

วันนี้ (19 ก.ย.2566) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA โพสต์ภาพถ่ายจากดาวเทียม WorldView-3 ซึ่งถ่ายไว้เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2566 บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อร่วมยินดีขึ้นทะเบียนมรดกโลก 

ข้อมูลระบุว่า อุทยานประวัติศาสตร์ในไทย มีอยู่หลายแห่งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ละที่ก็จะมีความสำคัญแตกต่างกันออกไป โดยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” ซึ่งล่าสุดได้รับการประกาศขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก วันที่ 19 ก.ย.2566 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย นับเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของประเทศไทย และยังเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทยด้วย

อ่านข่าว เส้นทาง "ศรีเทพ" สู่มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย

เมื่อมองจากอวกาศ เราจะเห็นภาพบริเวณพิกัด 15.4641° N, 101.1447° E ปรากฏเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งถูกบันทึกไว้ด้วยดาวเทียมสำรวจโลก WorldView-3 เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2566

ภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นบริเวณพื้นที่อุทยานฯ ที่มีลักษณะทางกายภาพของเมืองโบราณศรีเทพ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่กว่าโบราณสถานอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย

เมืองโบราณแห่งนี้มีคูเมืองเป็นกำแพงเมืองล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เมืองชั้นในและเมืองชั้นนอก มีพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,889 ไร่ ซึ่งถูกโอบล้อมไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนโดยรอบที่มีร่องรอยหลักฐานสะท้อนถึงการดำรงชีวิตของประชาชนที่เรียบง่ายตามวิถีดั้งเดิมของคนในพื้นที่

WorldView-3 เป็นดาวเทียมที่มีศักยภาพสูงสามารถบันทึกภาพพื้นที่ได้มากถึง 680,000 ตร.กม. บันทึกภาพได้ทั้งระบบช่วงคลื่น Panchromatic และช่วงคลื่นอื่นๆ อีกมากถึง 16 แบนด์ เช่น Multispectral ระดับ 1.24 เมตร  Short-wave Infrared ระดับ 3.7 เมตร และ CAVIS ระดับ 30 เมตร ที่รวมเรียกว่า “Super-spectral”

ด้วยคุณสมบัติที่ให้ข้อมูลภาพรายละเอียดสูง จึงเหมาะสมกับการนำไปใช้ในที่ต้องการภาพข้อมูลพื้นผิวโลกที่ชัดเจน เช่น การขยายตัวเมือง การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ แยกแยะรูปแบบการปลูกพืช ชนิดพืช งานด้านสมุทรศาสตร์ งานแผนที่รายละเอียดสูง และงานภัยพิบัติ 

อ่านข่าว นาทีประวัติศาสตร์ ประกาศขี้นทะเบียน "เมืองโบราณศรีเทพ" เป็นมรดกโลก

วินาทีประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานศรีเทพ เป็นมรดกโลก

วินาทีประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานศรีเทพ เป็นมรดกโลก

วินาทีประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานศรีเทพ เป็นมรดกโลก

"ศรีเทพ" ค้นพบเมื่อปี 2447

ข้อมูลเพิ่มเติมของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจากกรมศิลปากร "เมืองชั้นใน" ผังเมืองค่อนข้างกลม มีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ ภายในตัวเมืองมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลอนลูกคลื่น มีโบราณสถานกระจายตัวอยู่ 48 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีสระน้ำโบราณทั้งขนาดใหญ่และเล็กอีกจำนวนกว่า 70 แห่ง สำหรับ "เมืองชั้นนอก" ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองชั้นใน มีพื้นที่ประมาณ 1,589 ไร่ ผังเมืองค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ภายในตัวเมืองสำรวจพบโบราณสถาน จำนวน 64 แห่ง มีสระน้ำโบราณจำนวนมาก 

อีกทั้งนอกคูเมืองกำแพงเมืองโบราณยังมีการสำรวจพบโบราณสถานอีกจำนวน 50 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศเหนือของเมือง ที่สำคัญ ได้แก่ โบราณสถานเขาคลังนอก โบราณสถานปรางค์ฤๅษี กลุ่มโบราณสถานเขาคลังสระแก้ว และสระแก้ว สระน้ำโบราณขนาดใหญ่

อ่านข่าว ร่วมลุ้น! “เมืองโบราณศรีเทพ” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

ส่วนทางด้านทิศตะวันตกนอกเมืองโบราณศรีเทพห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเขาถมอรัตน์ ภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะ ซึ่งใช้เป็นจุดสังเกตในการเดินทางที่สำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยบริเวณเชิงเขาเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือและกำไลหินที่สำคัญ

ต่อมาในสมัยทวารวดีได้มีการดัดแปลงถ้ำหินปูน ที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขา ให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแบบมหายาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14

ข้อมูลจากกรมศิลปากร ยังระบุอีกว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์จำนวน 10 แห่งของประเทศไทยในปัจจุบันที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2527

สำหรับชื่อเรียก “ศรีเทพ” นั้นเป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ.2447

เขาถมอรัตน์ ยามเย็น 1 ในพื้นที่ Core Zone เมืองศรีเทพ

เขาถมอรัตน์ ยามเย็น 1 ในพื้นที่ Core Zone เมืองศรีเทพ

เขาถมอรัตน์ ยามเย็น 1 ในพื้นที่ Core Zone เมืองศรีเทพ

ไขคำตอบทำไมถึงถูกทิ้งร้าง 800 ปี

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวารวดี และเขมรตามลำดับ ซึ่งรวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า 800 ปี ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้ง

สำหรับใครที่สนใจจะไปเที่ยว การเดินทางก็สะดวกสบาย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จะอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ไปประมาณ 130 กิโลเมตร ที่สำคัญคือสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

อ่านข่าว

"เมืองโบราณศรีเทพ" ลุ้นมรดกโลก 18-20 ก.ย.นี้

โค้งสุดท้าย! ”เมืองโบราณศรีเทพ” ก่อนขึ้นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่

สารคดี "รากสุวรรณภูมิ ซีซัน 2" ตอน "ศรีเทพ" รัฐแรกเริ่ม หรือ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์โบราณ Si Thep : The primary state or the ancient sacred land :


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง