วันนี้ (20 ก.ย.2566) ราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซล ลดลง 2.00 บาท/ลิตร สำหรับกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ทุกชนิด คงเดิม มีผลตั้งแต่เวลา 24.00 น.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้เป็นผลมาจาก มติ ครม. ที่เคาะแล้วว่าต้องลดเพื่อช่วยค่าครองชีพ ก็เป็นผลทันที ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงพลังงานเสนอในที่ประชุม ครม.นัดแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ย. เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน
โดยใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาบริหารจัดการ โดย ครม.เห็นชอบการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 2.50 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มต้นแต่วันที่ 20 ก.ย. – 31 ธ.ค.2566
ปัจจุบันภาษีสรรพสามิตดีเซลอยู่ที่ 5.99 บาท/ลิตร หากมีผลปรับลดตามมติ ครม. ที่ 2.50 บาท ก็จะเหลือจัดเก็บที่ 3.67 บาท/ลิตร โดยจะทำให้มีเงินเหลือจากการหักลบดังกล่าวประมาณ 2.32 บาท/ลิตร จึงนำไปลดราคาขายปลีกดีเซลให้กับประชาชนที่อัตรา 2 บาท/ลิตร และที่เหลือ 0.32 บาท/ลิตร นำไปบริหารจัดการที่เสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ปัจจุบัน (ณ วันที่ 19 ก.ย.) กองทุนน้ำมันฯ มีการอุดหนุนราคาดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 8.98 บาท ซึ่งถือเป็นอัตราการอุดหนุนที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากราคาดีเซลตลาดโลกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง และทำให้ฐานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 17 ก.ย.2566 ติดลบอยู่ที่ 61,641 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 16,902 ล้านบาทและบัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG ติดลบ 44,739 ล้านบาท
มีรายงานเพิ่มเติมว่า หากราคาดีเซลโลกเฉลี่ย 126-130 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เงินในกองทุนที่มี ก็น่าจะเพียงพอที่จะดูแลราคาดีเซล และ แก๊สหุงต้มต่อ ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะดูแลภายใต้กรอบวงเงินกู้ที่บรรจุหนี้สาธารณะไว้แล้ว 1 แสน 1 หมื่นล้านบาท ขณะนี้เหลือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ก็น่าจะดูแลดีเซล 30 บาท/ลิตร และตรึง LPG ตามมติ ครม.จนถึงสิ้นปี
สำหรับราคาดีเซลขายปลีกปรับลดลง 2 บาท/ลิตร จากประมาณ 32 บาท/ลิตรเป็น ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ขายปลีกหน้าปั๊ม 29.94 บาท/ลิตร
อ่านข่าวอื่นๆ :
กทม.ชงมหาดไทยทบทวน ม.44 ปมสัมปทานบีทีเอส
"คมนาคม" หารือเดินหน้า รถไฟฟ้า 20 บ.ตลอดสาย นำร่องสายสีม่วง-สีแดง