วแทนคณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ทั่วประเทศ ประมาณ 10 คน เมื่อวันที่ 9 กันยายนได้เดินทางมายื่นรายชื่อคณาจารย์กว่า 700 คน ที่ร่วมลงชื่อแสดงความไม่เห็นด้วย และขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ(ทีคิวเอฟ) พ.ศ. 2552 ต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และมีดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศกึษา(กกอ.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการกกอ. ร่วมรับฟัง
นายวรวัจน์กล่าวว่า จากการหารือตนรับข้อเสนอของคณาจารย์ไปพิจารณา เบื้องต้นคงไม่สามารถยกเลิกกรอบทีคิวเอฟทั้งหมดได้ เพราะยังมีความจำเป็นต้องมีกรอบมาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำไว้ แต่สิ่งที่จะยกเลิกได้อย่างแรก คือเรื่องวิธีการกรอกข้อมูลเอกสารการประเมินต่าง ๆ ที่ทางอาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องซ้ำซ้อนและเป็นภาระงาน ซึ่งตนมอบให้สกอ.ไปดูในรายละเอียดต่าง ๆ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยจะต้องเป็นแนวทางที่ให้อิสระทางวิชาการแก่มหาวิทยาลัย
รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับกลุ่มคณาจารย์ที่มาคัดค้านทีคิวเอฟ และได้รับทราบถึงเหตุผลในการเข้ามายื่นหนังสือคัดค้านครั้งนี้ จึงได้อธิปรายต่อกลุ่มคณาจารย์ว่า ขณะนี้ สกอ.กำลังปรับบทบาทอยู่แล้ว และเห็นด้วยในบางประเด็นของการคัดค้านทีคิวเอฟ โดยเฉพาะในขั้นตอนการกรอกเอกสาร ซึ่งในส่วนนี้ คงต้องหาช่องทางในการยกเลิก และ จากนี้ สกอ.จะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกกอ. เพื่อดูว่าจะมีแนวทางในการปรับวิธีการในการดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับทุกฝ่าย
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รมว.ศึกษาธิการ เห็นด้วยในเชิงนโยบายที่จะให้มีการยกเลิกทีคิวเอฟ แต่ทั้งนี้ ก็ไม่สามารถกระทำได้ทันที และได้มอบหมายให้สกอ.ไปศึกษา หาแนวทางปฎิบัติว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ส่วนจะใช้เวลานานเท่าใดนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสกอ.
ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอของคณาจารย์ทั่วประเทศต่อแนวทางการพัฒนาและปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ดังนี้คือ1.ขอให้สกอ.ทบทวนแนวทางการผลักดันมหาวิทยาลัยมุ่งสู่ระดับสากล หรือ World Class Universities ด้วยวิธีการยึดหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว โดยสกอ.ควรหันมาพัฒนาแนวทางความเป็นเลิศของอุดมศึกษาที่วางอยู่บนหลักการที่ เคารพต่อความหลากหลายทางวิชาการ 2.สกอ.ควรปรับบทบาทของตนเองไปสู่การสนับสนุนเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของสถาบันต่างๆในการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการลดความซ้ำซ้อนและ ภาระงานทางเอกสารของระบบประกันคุณภาพที่มีอยู่ และหันมาสนับสนุนให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบประกันคุณภาพทางวิชาการอย่างแท้จริง และ3.ขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552
เนื่องจากซ้ำซ้อนกับระบบการประกันคุณภาพการเรียนการสอนที่มีอยู่แล้วของสมศ. และการประกันคุณภาพภายใน (SAR) ที่ต้องจัดทำอยู่แล้วทุกปีและสกอ.ควรจัดให้มีการประมวลและรวบรวมปัญหาระบบ การประกันคุณภาพการเรียนการสอนของอุดมศึกษาไทย เปิดให้การประชุมเพื่อรับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องแนวทางการพัฒนาแนวทางการประกันคุณภาพที่มี ความยืดหยุ่น คำนึงถึงความแตกต่างและหลากหลายของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ โดยการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง