ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มาแล้ว! "เอลนีโญ" พีคสุด พ.ย.-ม.ค.67 ฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 14%

สิ่งแวดล้อม
21 ก.ย. 66
10:46
27,208
Logo Thai PBS
มาแล้ว! "เอลนีโญ" พีคสุด พ.ย.-ม.ค.67 ฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 14%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มาแล้ว! ไทยเข้าสู่ช่วงเอลนีโญกำลังปานกลาง พีคสุดเดือนพ.ย.2566 ถึง ม.ค.2567 โดยคาดการณ์ฝนน้อยกว่าค่าปกติ 14% สทนช.ชงแผนปรับมาตรการรับมือรับฤดูแล้งเสนอ ครม.เดือนต.ค.นี้

วันนี้ (21 ก.ย.2566) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อน ส่งผลให้มีปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 14

โดยมีปริมาณฝนสะสมต่ำสุดในภาคกลาง ที่ต่ำกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 31 ส่วนปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศช่วงต้นหน้าแล้ง ถึงวันที่ 1 พ.ย.นี้ คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 24,372 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังคงน้อยกว่าปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 11,481 ล้านลูกบาศก์เมตร

อ่านข่าว พร้อมมั้ย? ปี' 67 โลกร้อนแปรปรวนคาดอุณหภูมิสูงแตะ 1.5 องศาฯ

ปัจจุบันเอลนีโญมีกำลังอ่อน แต่ยังคงทำให้มีฝนตกในหลายพื้นที่ และมีปริมาณน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ที่ 3,081 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะมีน้ำไหลเข้าเพิ่มในสัปดาห์นี้อีก 3,174 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยทั่วประเทศช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามี 24 จังหวัด เบื้องต้น กอนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้ความช่วยเหลือและบริหารจัดการน้ำเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ไปแล้ว คงเหลือประสบภัยเพียง 7 จังหวัด คือ พิษณุโลก สุโขทัย อุดรธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และปทุมธานี

นับถอยหลังเอลนีโญปลายปี 66-67

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวอีกว่า เอลนีโญมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว หรือเป็นช่วงหน้าแล้ง จากนั้นจะมีกําลังอ่อนลง และต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567

ดังนั้น เพื่อให้รับเอลนีโญได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สทนช. จึงเร่งวางแผนและเตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำก่อนเข้าหน้าแล้งอย่างเข้มข้น มีการถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำหน้าแล้งปี 2565/66 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วน

เพื่อนำมาใช้สำหรับปรับปรุงร่าง 9 มาตรการเตรียมการรองรับหน้าแล้งปี 2566/67 คาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ช่วงเดือนต.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไปและนำมาใช้ขับเคลื่อนกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อ่านข่าวโลกร้อน “ลานีญา” สลับขั้ว "เอลนีโญ"ไทยเผชิญฝนน้อย-แล้งยาว 19 เดือน

ไทยเริ่มต้นเอลนีโญกำลังปานกลาง

สอดคล้องกับการรายงานสถานการณ์ล่าสุดของกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า การเฝ้าระวังปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา เดือนก.ย.นี้ พบว่าปรากฏการณ์เอนโซ อยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังปานกลาง

โดยอุณหภูมิผิวน้ำะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตรในเดือนที่ผ่านมาสูงกว่าปกติทั่วทั้งบริเวณ และอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1.1-2.9 องศาเซลเซียส

โดยพบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่อยู่ลึกจากผิวน้ำลงไปจนถึงระดับ 300 เมตร ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาพบว่า อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าปกติเกือบทั่วทั้ง
บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกแถบศูนย์สูตร แต่ในระดับความลึก 150-300 เมตร บริเวณด้านตะวันตกของมหาสมุทรฯ เริ่มเย็นลง 

ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ระบบการหมุนเวียนบรรยากาศที่ระดับ 850 มิลลิบาร์ หรือที่ความสูงประมาณ 1.5 กิโลเมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลมตะวันตกที่มีกําลังแรงกว่าค่าปกติพัดปกคลุมพื้นที่เล็กๆ บริเวณตอนกลางและด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร

สําหรับลมที่ระดับ 200 มิลลิบาร์ หรือที่ความสูงประมาณ 11กิโลเมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลมที่มีกําลังแรงกว่าปกติพัดของเส้นศูนย์สูตรบริเวณด้านตะวันออกของมหาสมุทรฯ และมีลมตะวันออกที่มีกําลังแรงกว่าปกติ
พัด ปกคลุมบริเวณตอนกลางและด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร

การคาดหมายจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่มีความสูงกว่าค่าปกติและระบบการหมุนเวีย์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติและแบบจําลองเชิงพลวัตแล้ว

คาดว่าปรากฏการณ์เอนโซ ที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังปานกลางมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนพ.ย.2566 ถึง ม.ค.2567 จากนั้นจะมีกําลังอ่อนลงและต่อเนื่องจนถึงเดือนก.พ.-เม.ย.2567

โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย คาดว่าในช่วงเดือนก.ย.-พ.ย.นี้ ปริมาณฝนในไทยมีค่าต้ำกว่าค่าปกติเล็กน้อย ส่วนอุณหภูมิจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย

กอนช.เตือนเฝ้าระวังระดับน้ำในเจ้าพระยาเพิ่มสูง 22-26 ก.ย.

โลกเผชิญ “ซูเปอร์เอลนีโญ-ลานีญา” 5 ครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง