ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วันแรดโลก : หาคำตอบทำไม "แรดโลก" จำนวนลด - เสี่ยงสูญพันธุ์

สิ่งแวดล้อม
22 ก.ย. 66
12:12
1,262
Logo Thai PBS
วันแรดโลก : หาคำตอบทำไม "แรดโลก" จำนวนลด - เสี่ยงสูญพันธุ์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กางสถิติ "แรด" ยังวิกฤตทั่วโลกเหลือไม่ถึง 30,000 ตัว น้อยสุดเสี่ยงสูญพันธุ์ "แรดชวา-กระซู่" ประชากรในป่าต่ำกว่า 80 ตัว ภัยคุกคามจากล่า "นอแรด" ซื้อขายในตลาดมืดมูลค่าแพงสุด 10 ล้านบาท

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับ ดร.เพชร มโนปวิตร เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และที่ปรึกษาองค์กรสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ถึงสถานการณ์ "แรด" ทั่วโลกในปี 2566 รวมถึงเส้นทางการลักลอบค้าสัตว์ป่า

22 กันยายน 2566 ตรงกับวันอะไร

วันแรดโลก (World Rhino Day) ตรงกับวันที่ 22 กันยายนของทุกปี เป็นวันสำคัญที่รณรงค์ให้ตระหนักถึงปัญหาการสูญพันธุ์ของแรด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

แรดเหลือ หลักหมื่นตัวทั่วโลก เสี่ยงสูญพันธุ์

หลายคนอาจรู้จักแรด แต่อาจไม่ทราบว่า จริง ๆ แล้วแรดมีทั้งหมดกี่ชนิด ซึ่ง “แรด" ทั่วโลก มีทั้งหมด 5 ชนิด แบ่งเป็น "แรดแอฟริกา" จำนวน 2 ชนิด คือ แรดดำ และแรดขาว แรดเอเชีย จำนวน 3 ชนิด คือ แรดอินเดีย แรดชวา และ แรดสุมาตรา หรือ กระซู่ ทั้งหมดถูกคุกคาม และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อายุขัยเฉลี่ยของแรดอยู่ที่ 40 ปี แรดถูกจัดว่าเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก "ช้าง" 

แรดดำ และ แรดขาว ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของแรดบนโลกใบนี้ โดย "แรดดำ" มีอยู่ประมาณ 6,000 ตัว "แรดขาว" ประมาณ 16,000 ตัว

แรดขาว ออกหากินก่อนพระอาทิตย์ตกดินใน Lewa Conservancy ประเทศเคนยา (9 พ.ค.2565)

"แรดขาว" ออกหากินก่อนพระอาทิตย์ตกดินใน Lewa Conservancy ประเทศเคนยา (9 พ.ค.2565)

"แรดขาว" ออกหากินก่อนพระอาทิตย์ตกดินใน Lewa Conservancy ประเทศเคนยา (9 พ.ค.2565)

นอกจากนี้ยังมี "แรดอินเดีย" พบในพื้นที่ประเทศอินเดีย และเนปาล ปัจจุบันเหลือพบอยู่ประมาณ 2,000 ตัว และในรอบ 5 ปีนี้จะมีข่าวดีว่าประชากรแรดอินเดียมีแนวโน้มเพิ่มเกิน 4,000 ตัว ซึ่งเป็นผลพวงจากความเอาจริงเอาจังกับการจัดการปัญหาของรัฐบาลอินเดีย และเนปาล

ส่วนที่หายากมากอยู่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คือ แรดสุมาตรา หรือ กระซู่ มีลักษณะเด่นคือมี 2 นอ และแรดชวา โดยทั้ง 2 ชนิดมีอยู่น้อยกว่า 80 ตัวเท่านั้นจึงมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เพราะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง 

ขณะที่แรดชวาตัวสุดท้าย ในเวียดนามถูกล่าเมื่อปี 2010 ทำให้ปัจจุบันเหลือแหล่งอาศัยที่สำคัญของแรดชวา อยู่เพียงแห่งเดียวในโลกที่ Ujung Kulon National Park ในเกาะชวา และคาดว่าเหลืออยู่ราว 40-60 ตัวเท่านั้น

นอกจากนี้ในช่วงโควิด-19 การเดินทางระหว่างประเทศถูกปิดไปหมดยังส่งผลให้การค้านอแรดลดลงด้วย ช่วงต้นปีนี้ 2566 ก็พบว่า มีแรดถูกล่าน้อยลงในแอฟริกาใต้ 

ลูกแรด ในสถานดูแลแรดกำพร้า จ.ลิมโปโป ประเทศแอฟริกาใต้ (14 ก.ค.2565 )

"ลูกแรด" ในสถานดูแลแรดกำพร้า จ.ลิมโปโป ประเทศแอฟริกาใต้ (14 ก.ค.2565 )

"ลูกแรด" ในสถานดูแลแรดกำพร้า จ.ลิมโปโป ประเทศแอฟริกาใต้ (14 ก.ค.2565 )

แรด-กระซู่ ในไทยไม่พบเห็นอาจนานถึง 70 ปี

ในอดีตไทยเคยมี แรดชวา และกระซู่ ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในบัญชีสัตว์สงวนของไทย แต่น่าเสียดายที่สำรวจไม่พบประชากรของแรดทั้ง 2 ชนิด ในผืนป่าไทยมา มานานหลายสิบปีแล้ว  
เพชร มโนปวิตร

เพชร มโนปวิตร

เพชร มโนปวิตร

ดร.เพชร อธิบายว่า แรดชวา และกระซู่ เป็นสัตว์ป่าที่ลึกลับมาก เก็บข้อมูลได้ยาก มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ครั้งสุดท้ายก่อนปี พ.ศ.2500 หมายความว่า ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับแรดในไทย ทั้งแรดชวา และกระซู่ มาเกือบ 70 ปี

แม้จะเคยมีเรื่องเล่าว่าพรานเคยพบรอยที่ป่าแก่งกระจาน หรือป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และอีกพื้นที่ที่เคยมีคำบอกว่าพบร่องรอย คือ ฮาลา-บาลา พื้นที่ป่ารอยต่อไทยมาเลเซีย แต่ไม่เคยปรากฏหลักฐานยืนยันการคงอยู่อย่างชัดเจน

ในสมัย สืบ นาคะเสถียร ยังเคยมีโครงการออกสำรวจพูดคุยกับชาวกระเหรี่ยงถึงการพบเห็น "กระซู่" ในพื้นที่ ดังนั้นจึงมีข้อมูลว่า เคยมีกระซู่อย่างแน่นอนในป่าตะวันตก แต่ก็น่าเสียดายว่า สูญพันธุ์ไปก่อนที่จะมีข้อมูลที่ชัดเจน และไม่ทันกับงานอนุรักษ์

"แรด" สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์จัดอยู่ในบัญชีไซเตส ในประเทศไทย มีแรดตัวเดียวที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ชื่อ "กาลิ" เป็นแรดอินเดีย

อ่านข่าว : เปิดใจ "เคน" คนเลี้ยง "กาลิ" แรดอินเดียหายากหนึ่งเดียวในไทย

จีน-เวียดนาม แหล่งค้า "นอแรด" ใหญ่สุดในโลก

มีแรดจำนวนหนึ่งถูกล่าอย่างโหดร้ายด้วยน้ำมือมนุษย์ เพื่อคว้านนอให้ได้มากที่สุด 

ดร.เพชร กล่าวว่า สัตว์ส่วนใหญ่ถูกล่าเอาเนื้อ และเอาอวัยวะบางส่วนไปขาย แต่หากเป็นกลุ่มขบวนการค้าสัตว์ป่า เป้าหมายที่ถูกเจาะจงโดยเฉพาะ "แรด" นั้นคือ "นอ" ซึ่งนอแรด ถือเป็นของหายาก (Rare item) ที่มีความต้องการสูง และมูลค่าสูง

ในช่วง 10 ที่ผ่านมา จีนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ชาวจีนมีฐานะดีขึ้น หรือแม้แต่เวียดนามเอง ค่านิยมการการซื้อนอแรดกลับมาอีกครั้ง ทำให้เกิดโศกนาฎกรรมการล่าแรดจำนวนมาก เรียกได้ว่า ได้ของมาเท่าไร มีคนซื้อหมด คนมีกำลังซื้อ ชิ้นส่วนของนอแรด กลายมาเป็นสินค้าที่มีความต้องการอย่างยิ่งในตลาดมืด

ยกตัวอย่าง "นอแรดเอเซีย" กระซู่ และแรดชวา ราคาต่อกิโลกรัมพุ่งไปถึง 10 ล้านบาท ขณะที่ "แรดแอฟริกา" ราคาต่อกิโลกรัมตกราว ๆ 600,000 - 700,000 บาท

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีแรดถูกฆ่าเพื่อเอานอมาขายร่วม 10,000 ตัว หากดูประชากรแรดทั่วโลกที่เหลืออยู่ราว 20,000 ตัว ถือเป็นสถิติที่น่าตกใจมาก
ชิ้นส่วนนอแรด ที่สำนักงานคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในสิงคโปร์ ยึดได้จากผู้โดยสารที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้  (4 ต.ค.65 )

ชิ้นส่วนนอแรด ที่สำนักงานคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในสิงคโปร์ ยึดได้จากผู้โดยสารที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ (4 ต.ค.65 )

ในภูมิภาคแถบนี้ เวียดนามเป็นตลาดที่มีการใช้ประโยชน์นอแรด เวียดนามกับจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นศูนย์กลางที่นำเข้า "นอแรด" จากสถานที่ต่าง ๆ หมายความว่า ที่ไหนก็ตามที่มี "นอแรด" สุดท้ายปลายทางก็จะไปจบที่ "เวียดนาม" หรือไม่ก็ "จีน"

ขณะที่ประเทศไทยก็เคยมีการจับกุมได้ แม้เราไม่ได้มีประชากรแรดแล้ว แต่จะเป็นเส้นทาง เพราะความสะดวกในเรื่องการขนส่ง เส้นทางการค้า "นอแรด" กับผลิตภัณฑ์สัตว์สัตว์ป่าผิดกฎหมายมีความเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่แค่ "นอแรด" แต่ยังมี "งาช้าง" และ "เสือโคร่ง" ด้วย

ดร.เพชร มองว่า ขบวนการที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสัตว์ป่าข้ามชาติ จะเชื่อมโยงกับอาวุธผิดกฎหมาย ยาเสพติด ด้วย เพราะถูกมองว่าเป็นของผิดกฎหมายที่ได้ค่าตอบแทนที่สูง จึงมักที่จะเป็นอาชญากรข้ามชาติกลุ่มเดียวกัน ที่มีส่วนพัวพัน หรือเข้าไปมีส่วนในการจัดนายพราน จัดขบวนการติดสินบนเจ้าหน้าที่มีการทำเป็นขบวนการ การลักลอบค้าสัตว์ป่าถูกยกระดับ ไม่ใช่แค่นายพรานแถวพื้นที่อนุรักษ์เข้าไปล่าสัตว์เหมือนเดิมอีกแล้ว

ไทย ร่วมสกัดลักลอบค้า "นอแรด"

ดร.เพชร กล่าวว่า การที่ประเทศไทยเป็นเส้นทางการค้าในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีการลงทุนในส่วนของการอนุรักษ์มีการปรับปรุงสร้างความแข็มแข็งให้กับระบบการสืบสวน ทำให้ไทยมีบทบาทอย่างยิ่งในการสกัดกั้น เส้นทางการค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก อาทิ สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบินในระดับภูมิภาค รวมถึงการสกัดกันทางน้ำ ที่มีการลักลอบขนส่งมา และทางบก ใช้เส้นทางรอยต่อพรมแดนทางธรรมชาติหลายจุด ที่อาจจะเป็นจุดหล่อแหลม

ขณะเดียวกัน ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ หากมีหลุดมาแล้วการสืบสวนพยายามที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมายก็สามารถที่จะหาต้อตอของผู้ซื้อได้ และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนขึ้น

"กินนอแรด ก็เหมือน แทะเล็บตัวเอง" 

การล่า "แรด" เพื่อเอา "นอ" กลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะความต้องการ "นอแรด" มาเป็นส่วนประกอบกับสมุนไพร ตามความเชื่อว่าที่ว่า มีคุณสมบัติด้านการบำรุง และรักษาโรคต่าง ๆ เช่น  แก้ไข้ แก้หวัด และอีกสารพัดอาการ รวมถึงเป็นเครื่องประดับที่แสดงถึงฐานะ 

ความเชื่อมาแต่โบราณ กับในความเป็นจริงแล้วส่วนประกอบของ "นอแรด" คือ โปรตีนเคราติน แบบเดียวกับที่อยู่ในเส้นผม หรือเล็บของคนเรา อย่างที่เคยมีโฆษณาที่บอกว่า "กินนอแรด ก็เหมือน แทะเล็บตัวเอง" ส่วนผสมในเรื่องของสารอาหาร และส่วนประกอบไม่ต่างกันเลย ไม่มีผลต่อการบำรุงกำลัง ไม่มีเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์ที่มารองรับว่าต้องกิน "นอแรด" เป็นความเชื่อล้วน ๆ

เพชร มโนปวิตร

เพชร มโนปวิตร

เพชร มโนปวิตร

การเพาะพันธุ์เพิ่มประชากรแรด ทำได้หรือไม่ 

เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีความพยายามเพาะเลี้ยงแรด และมีโครงการขยายพันธุ์แรดในที่เลี้ยง แต่แรดเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนมาก ใช้เวลานานกว่าที่จะโตเต็มวัย รวมถึงใช้เวลาตั้งท้องนานมาก (ราว 15 เดือน) ดังนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะขยายพันธุ์ หรือรองรับได้เพียงพอหากยังไม่มีการแก้ปัญหาเรื่องของการล่า รวมถึงขณะนี้แรดไม่ได้เป็นสัตว์ป่าที่มีจำนวนมากในธรรมชาติหากเกิดปัจจัยคุกคาม ก็มีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ได้

ขณะที่การใช้ประโยชน์นอแรด ถือว่าเป็นประเด็นที่ยังมีการถกเถียงกัน แรดเสี่ยงถูกล่าตายก็เพราะนอ ดังนั้นอาจเคยเห็นข่าว ในแอฟริกาที่ยังมีแรดจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตเอกชน เลือกที่จะตัดนอในจุดที่ไม่เป็นอันตราย เหมือนตัดเล็บ แต่ผลกระทบในเชิงนิเวศวิทยา ในธรรมชาติเองแรดตัวผู้ก็คงจะมีนอ หรืออวัยวะนี่ เพื่อเหตุผลบางประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่จะดึงดูดตัวเมีย หรือการต่อสู้แข็งขัน 

แรด ที่เขตสงวนเกม Buffalo Kloof นอก Gqeberha (5 เม.ย.66)

แรด ที่เขตสงวนเกม Buffalo Kloof นอก Gqeberha (5 เม.ย.66)

แรด ที่เขตสงวนเกม Buffalo Kloof นอก Gqeberha (5 เม.ย.66)

ขณะที่ แนวคิดที่จะควบคุมให้มีการค้านอแรดโดยถูกกฎหมาย โดยมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง นั้นก็ยังมีประเด็นหรืออาจเกิดปัญหาตามมาขึ้นมาได้ โดยเฉพาะการตรวจสอบนอแรดเป็นไปได้ยาก ว่าได้นอแรดมาจากที่ใด มีการสวมทะเบียนหรือไม่ ซึ่งก็จะยังมีช่องโหว่ทางกฎหมายเกิดขึ้น คล้ายกับกรณีของงาช้าง

อย่างในอดีตงาช้างเคยค้าขายในประเทศได้ถูกกฎหมาย เพราะเรามีช้างเลี้ยง แต่พอมีตลาดที่ถูกกฎหมาย จึงเกิดเป็นช่องโหว่ในการนำงาช้างแอฟริกามาสวมสิทธิ์ หรือล่ามาจากธรรมชาติมาสวมสิทธิ์

ดร.เพชร ทิ้งท้ายว่า แรดเป็นสัตว์ป่าที่ถูกคุกคามจากการค้าโดยตรง โดยเฉพาะในเรื่องของการนำ "นอแรด" มาใช้ ทุกปีจึงมีการจัดวันแรดโลกขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักว่าแรด เป็นสัตว์ป่าขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศ ซึ่งยังคงถูกคุกคามการทำลายสิ่งที่อยู่อาศัย จากกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะการนำมาใช้ประโยชน์โดยตรงคือ นอแรด

เป็นบทเรียนสำคัญ ในเรื่องการอนุรักษ์ว่าถ้าเราจะเก็บรักษาเอาไว้ มันต้องเริ่มจากการเห็นคุณค่าก่อน ความต้องการความเชื่อผิด ๆ ของประเทศหนึ่งอาจจะส่งผลกระทบกว้างไกลไปถึงสัตว์ป่า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วันแรดโลก 22 ก.ย.สัตว์บกขนาดใหญ่ที่เสี่ยงสูญพันธุ์

"กระซู่-แรดชวา" ความทรงจำ "วัชระ สงวนสมบัติ" นักอนุกรมวิธาน

เปิดโปงเส้นทางค้าสัตว์ป่าไทย-ลาว ทั้ง “เสือ-นอแรด-งาช้าง-จระเข้-ลิง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง