การปลิดชีวิตคน 2 คนขึ้นไปหรือมากกว่า อย่างผิดกฎหมาย โดยผู้ลงมือคนเดียวกัน ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน คือ คำจำกัดความของ “ฆาตกรรมต่อเนื่อง” ที่ระบุไว้ใน รายงานเรื่อง ฆาตกรรมต่อเนื่อง มุมมองจากหลากหลายสาขา สำหรับผู้สืบสวน หรือ 'Serial Murder' Multi-Disciplinary Perspectives for Investigators ซึ่งเผยแพร่โดย หน่วยวิเคราะห์พฤติกรรมของสำนักงานสืบสวนกลาง สหรัฐอเมริกา หรือ FBI
เนื้อหาบางส่วนในเอกสาร ระบุถึงแรงจูงใจของผู้ลงมือว่าเป็นไปได้ทั้งความโกรธแค้นต่อสังคมโดยรวมหรือต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม บ้างลงมือด้วยแรงจูงใจทางแนวคิดหรืออุดมการณ์บางอย่าง
ฆาตกรบางคนต้องการรู้สึกถึงอำนาจการควบคุม หรือแสวงหาความตื่นเต้น ในบางคนอาจมีเรื่องแรงจูงใจทางเพศ ขณะที่บางคนอาจลงมือเพราะเกิดอาการหลงผิด เห็นภาพหลอน ซึ่งเป็นสัญญาณอาการป่วยโรคทางจิตเวช นอกจากนี้ ฆาตกรบางคนยังมีแรงจูงใจจากผลประโยชน์ทางการเงิน เช่น เงินประกัน เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เห็นตรงกันว่า ฆาตกรต่อเนื่องแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นแรงจูงใจหรือพฤติกรรมในที่เกิดเหตุ แต่มีลักษณะร่วมบางอย่างในฆาตรกรต่อเนื่องบางคน เช่น การแสวงหาความรู้สึก การไม่รู้สึกผิดหรือสำนึกผิด ความหุนหันพลันแล่น ความต้องการควบคุม และพฤติกรรมนักล่า ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สอดคล้องกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพ
จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่ระบบยุติธรรมทางอาญาต้องเข้าใจอาการทางจิตที่เกี่ยวข้องกับฆาตกรรมต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า ผู้ป่วยทางจิตเวชทุกคนไม่ได้เป็นฆาตกรต่อเนื่อง