รู้จัก EOD "หน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด"
EOD (Explosive Ordnance Disposal) คือ หน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด ซึ่งต้องจบหลักสูตรทำลายวัตถุระเบิดมาโดยเฉพาะ เพื่อรับผิดชอบภารกิจสำคัญต่าง ๆ เช่น
- พิสูจน์ทราบและทำให้ปลอดภัยจากวัตถุระเบิด
- แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อมีภัยคุกคามหรือเหตุการณ์ร้ายแรงเกี่ยวกับวัตถุระเบิด
- ตรวจร่วมกับชุดสุนัขตรวจพัสดุภัณฑ์ระเบิด K9
- ประสานหน่วยสนับสนุน เช่น รถพยาบาล รถดับเพลิง รถไฟฟ้า เมื่อมีเหตุการณ์ขู่วางระเบิด ตามแผนฉุกเฉิน
- ให้ความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับวัตถุระเบิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ประเมินค่าและทำให้ปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายสัมภาระต้องสงสัยหรือสิ่งของหลงลืมว่าเป็นวัตถุระเบิด
- ตรวจอาคารสถานที่ ยานพาหนะ อากาศยาน เพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรม
เจ้าหน้าที่ EOD ขณะปฏิบัติหน้าที่ ที่มา : FB ผู้พิทักษ์
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ "วัตถุระเบิด"
คือสารประกอบทางเคมี ที่มีสถานะต่างๆ ทั้งของแข็ง ของเหลว และ ก๊าซ ที่เมื่อได้รับปฏิกิริยาจากภายนอกทั้ง ความร้อน เปลวไฟ การกระแทก การเสียดสี หรือคลื่นการระเบิด แล้วจะเปลี่ยนแปลงสภาพจากเดิมกลายเป็นก๊าซปริมาณมากมายจำนวนมหาศาล กระจายออกทุกทิศทาง การขยายตัวของก๊าซที่เกิดจากการระเบิด ก่อให้เกิด แสงสว่าง เปลวไฟ ความร้อน และ แรงดันจำนวนมหาศาล วัตถุระเบิดสามารถแบ่งตามความเร็วในการจุด ได้ 2 ประเภท คือ
- วัตถุระเบิดแรงต่ำ (Low Explosive) จะแปรสภาพจากเดิมเป็นก๊าซได้อย่างช้าๆ มีความเร็วในการจุดตัว น้อยกว่า 1,000 เมตร/วินาที เช่น ดินดำ ดินส่ง กระสุน พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ สารไพโรเทคนิคต่างๆ สามารถทำให้เกิดการระเบิดได้ หากเป็นการเผาไหม้อย่างรุนแรงในที่ห้อมล้อมหรือที่บังคับ เช่น การระเบิดของประทัด การระเบิดของดินส่งกระสุนในรังเพลิง
ภาพประกอบข่าว
- วัตถุระเบิดแรงสูง (High Explosive) จะแปรสภาพจากเดิมเป็นก๊าซได้อย่างรวดเร็ว มีความเร็วในการจุดตัวมากกว่า 1,000 เมตร/วินาที การระเบิดของวัตถุระเบิดแรงสูงเรียกว่า การปะทุ จะก่อให้เกิดคลื่นการปะทุ (Shock Wave) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการระเบิดพ้องทำให้ระเบิดที่อยู่ในรัศมีระเบิดตามไปด้วย
ภาพประกอบข่าว
"4 ไม่" ข้อสังเกตสำหรับวัตถุต้องสงสัย (วัตถุที่ควรสงสัย)
- ไม่เคยเห็น เป็นสิ่งของที่ไม่เคยพบเห็นในบริเวณนั้นมาก่อน รวมถึงสิ่งที่เคยอยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งได้หายไป แล้วกลับมาวางอยู่ ณ ที่นั้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ไม่เป็นของใคร เป็นสิ่งของที่ทิ้งไว้ไม่มีเจ้าของ ประกาศหาเจ้าของแล้วไม่มีผู้มาแสดงตัว หรือไม่สามารถระบุตัวผู้เป็นเจ้าของได้
- ไม่ใช่ที่อยู่ สถานที่ๆ พบสิ่งของกับเป็นสิ่งของที่พบ ไม่มีความสัมพันธ์กัน หรือสิ่งของนั้นๆ ควรจะอยู่ในสถานที่อื่นมากกว่าที่จะมาอยู่บริเวณนั้น
- ดูไม่เรียบร้อย เป็นสิ่งของที่มีลักษณะภายนอกผิดปกติ หรือมีรูปร่างผิดไปจากเดิม เช่น กล่องมีรอยเปรอะเปื้อน มีการปิดผนึกไม่เรียบร้อย อาจมีรอยปิดผนึกใหม่ มีรอยยับต่างๆ มีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีรอยเชื่อมใหม่มีการผูกมัดรัดตรึงที่แน่นหนาผิดปกติ มีสายไฟ หรือมีชิ้นส่วนต่างๆ โผล่พ้นออกมาผิดปกติ เป็นต้น
จากข้อพิจารณาข้างต้น ไม่จำเป็นต้องเข้าหลักเกณฑ์ครบทั้งหมดทุกข้อ เพียงเข้าหลักเกณฑ์ อย่างน้อย 2 ข้อ ก็เพียงพอสำหรับการสันนิฐานและตัดสินใจได้แล้วว่าเป็น วัตถุต้องสงสัย
ข้อสังเกตเกี่ยวกับระเบิดทางพัสดุไปรษณีย์
- มีน้ำหนักมากเกินขนาด
- ซองมีลักษณะแข็ง พับงอไม่ได้
- ห่อพัสดุ หรือซองจดหมายมีลักษณะโป่งบวม หรือพอง ผิดปกติ
- ลักษณะการห่อแน่นหนาเกินควร มีเทปพันมากเกินควร
- อาจมีสายไฟยื่นออกมา
- ไม่มีชื่อ ที่อยู่ ของผู้ส่ง หรือมีแต่ไม่เคยรู้จัก
- มีคราบน้ำมัน หรือสีซีดจางที่ห่อกระดาษ
- อาจมีการเขียนข้อความ หรือติดภาพที่เรียกร้องความสนใจ
- เป็นจดหมายที่ไม่ได้คาดว่าจะได้รับ
ภาพประกอบข่าว
- มีการติดแสตมป์มากเกินขนาด (โดยเฉพาะส่งภายในประเทศ)
- มีการทำเครื่องหมายพิเศษต่าง เช่น ส่วนตัว, เฉพาะบุคคล
- ลายมือเขียน หรือพิมพ์ที่ไม่เป็นระเบียบ
- ไม่มีชื่อผู้รับ
- มีชื่อ แต่ระบุตำแหน่ง หรือยศ ไม่ถูกต้อง
- สะกดคำผิดในคำง่าย ๆ
การป้องกันเป็นหน้าที่ของใคร ?
การระวังป้องกันความเสียหายที่เกิดจากการระเบิด จะเกิดมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับ สถานที่ ปริมาณวัตถุระเบิด และ การระวังป้องกัน การระเบิดทำให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่ต่างๆ และผู้ที่อยู่ในบริเวณที่เกิดการระเบิด ฉะนั้น การป้องกันจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน
ลดความเสี่ยง หลีกเลี่ยงความเสียหาย ปราศจากเหตุร้ายในพื้นที่
การป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด คือ การไม่เข้าไปในที่ๆ มีการวางระเบิด หรืออยู่ห่างให้มากที่สุด แต่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าก่อนว่าจะมีการวางระเบิดที่ใด เมื่อใด
เพื่อความปลอดภัยมีข้อแนะนำ ดังนี้
- หมั่นติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำที่เกี่ยวข้อง
- หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่ออันตราย
- หมั่นตรวจดูสิ่งผิดสังเกตรอบๆ ตัวเอง
ภาพประกอบข่าว
เมื่อพบแล้วประชาชนต้องทำอย่างไร ?
เมื่อพบสิ่งของที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นวัตถุต้องสงสัย เพื่อความปลอดภัย ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้
- ห้าม - ห้ามแตะ, จับ, ขยับ, เคลื่อนย้าย หรือ การกระทำใดๆ กับวัตถุต้องสงสัย
- ถาม - เมื่อพบวัตถุต้องสงสัยให้ถามหาเจ้าของก่อนว่ามีหรือไม่ หากมีเจ้าของ สิ่งที่พบก็ไม่ใช่วัตถุต้องสงสัย
- จดจำ - อย่าตกใจ ควรสังเกตสิ่งต้องสงสัยโดยรอบ และ จดจำลักษณะวัตถุต้องสงสัยนั้นให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ในการให้รายละเอียดแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
- นำแจ้งความ - ผู้ที่พบเห็นแจ้งสิ่งที่พบกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือ เจ้าหน้าที่ที่ใกล้ที่สุดในพื้นที่
- กำหนดเขตปลอดภัย - การประเมินระยะอันตรายที่เกิดจากการระเบิด ระยะอันตรายขึ้นอยู่กับ ลักษณะของหีบห่อ จำนวนดินระเบิดที่บรรจุ
- ให้คนออก - ผู้ที่พบเห็นควรแจ้งให้ทุกคนที่อยู่ในระยะอันตราย ออกนอกเขตอันตรายให้หมด และ ควรอยู่ในที่กำบังที่แข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากแรงระเบิดและสะเก็ดระเบิด
ภาพประกอบข่าว
ที่มา : หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดอโณทัย กรมสรรพาวุธทหารบก, กรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย