วันที่ (26 ก.ย.2566) กระทรวงศึกษาธิการ เร่งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของอาชีวะให้เป็นที่ยอมรับของผู้เรียนและตลาดแรงงาน พร้อมสร้างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รับรองมาตรฐานวิชาชีพ และสมรรถนะของนักศึกษาอาชีวะที่เรียนจบ โดยแบ่งการวัดผลเป็น 8 ระดับ และมีผลลัพธ์การเรียนรู้ 3 ด้าน คือ ความรู้ ทักษะ และความสามารถในการประยุกต์ใช้ และความรับผิดชอบ
สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการ
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการ เปิดเผยว่า ได้มีการนำร่องพัฒนาหลักสูตร และนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ มาทดลองใช้ในสถาบันอาชีวะบางแห่ง และจะมีการประเมินผล และวางแผนขยายไปสู่สถาบันอาชีวะทั่วประเทศต่อไป เพื่อให้เด็กที่เรียนจบอาชีวะ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และมีโอกาสทำงานที่ได้ค่าตอบแทนที่สูง เหมาะสมกับทักษะฝีมือที่มี
กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ แลกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน จะเป็นเรื่องของการยกระดับมาตรฐานอาชีพ ให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสมรรถนะอาชีพ เป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ
นายวิทยา แสนคำ อาจารย์ประจำสาขาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงขนส่งทางราง วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี เปิดเผยว่า แม้ตลาดแรงงานในพื้นที่อีอีซี จะมีความต้องการนักศึกษาที่จบสาขาวิชานี้หลักหมื่นคน แต่ที่วิทยาลัยฯ มีเด็กเรียนจบและมีคุณภาพตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการ แต่ละปีไม่ถึง 40 คน
ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเด็กเลือกเรียนน้อย เพราะอาจจะไม่เข้าใจหลักสูตรสาขาที่เปิดสอน และอาจกังวลว่าจะได้เงินเดือนน้อย มีตำแหน่งงานต่ำกว่าเด็กที่เรียนจบสถาบันอุดมศึกษา
ขณะที่นักศึกษาอาชีวะ สาขาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงขนส่งทางราง วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี เปิดเผยว่า การเรียนอาชีวะ ทำให้เขาเรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทำให้มีทักษะในการทำงาน รวมถึง มีบริษัทเข้ามาเสนอการจ้างงงานตั้งแต่เรียนไม่จบ จึงทำให้พวกเขาไม่กลัวว่าจะตกงาน
อ่านข่าวอื่นๆ :