จากกรณีข่าวสภาเม็กซิโกเผยร่างของมนุษย์ต่างดาวอายุนับพันปี และข่าวการแถลงของนาซา (NASA) ต่อผลการศึกษาวัตถุปริศนาในลักษณะ UAP ที่ถูกเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ หากพิจารณากันจริง ๆ แล้ว นอกจากเนื้อเรื่องที่ดูไร้เหตุผลและเป็นการอวดอ้างเกินจริงแล้ว ช่องโหว่หลาย ๆ อย่างที่เกิดจากการตีความ ก็ได้กลายเป็นตัวสะท้อนปัญหาด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และวงการสื่อสารมวลชนในยุคปัจจุบัน
เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2023 ได้มีข่าวใหญ่ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกัน 2 ข่าว ได้แก่
1. นาซา แถลงข่าวผลการศึกษาวัตถุบินปริศนา (UAP)
2. การนำเสนอร่างมนุษย์ต่างดาว ในสภาของเม็กซิโก
ทำให้หลายสำนักข่าว ได้ตื่นตัวและนำเนื้อหาดังกล่าวมานำเสนอ บางส่วนได้มีการผูกรวมสองเนื้อหาดังกล่าวเข้าด้วยกันว่า นาซาเองอาจกำลังรู้ความลับบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่างดาว ในขณะที่ข่าวร่างมนุษย์ต่างดาวก็ถูกนำมาพูดถึงโดยอาศัยคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การพูดถึงการตรวจสอบดีเอ็นเอ (DNA) ว่าไม่พบดีเอ็นเอของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม มีเพียงแค่สื่อจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่นำเสนอข่าวได้อย่างครอบคลุมรอบด้าน เช่น กรณีของสำนักข่าว เดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) ที่รายงานข่าวดังกล่าวด้วยพาดหัว “มันมี่จากอวกาศ ? สภาเม็กซิโกได้รับการนำ (ร่างของมนุษย์ต่างดาว) มาเสนอ” (Mummies From Outer Space? Mexico’s Congress Gets a Firsthand Look) จะสังเกตว่าในการพาดหัวนั้นไม่ได้พูดถึงว่า สภาเป็นคนนำร่างมาเปิดเผย แต่สะท้อนความจริงที่ว่า รัฐสภากำลังมีการร่างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ จึงได้มีการรับฟังความเห็น ซึ่งหนึ่งในผู้ที่เข้ามาเสนอความเห็นก็คือนายเจมี เมาส์ซัน (Jaime Maussan) ที่ได้เป็นผู้นำร่างของมนุษย์ต่างดาวมานำเสนอ พร้อมอ้างว่าเขาได้ค้นพบร่างดังกล่าวในประเทศเปรู และมีการตรวจสอบดีเอ็นเอและผ่านกระบวนการวัดอายุคาร์บอน ที่บ่งบอกว่าร่างดังกล่าวมีอายุกว่าพันปี และไม่ใช่สิ่งมีชีวิตบนโลก รวมถึงอ้างว่าพบไข่ของมนุษย์ต่างดาวในท้อง ซึ่งเนื้อหาที่แท้จริงนั้นมีเพียงเท่าที่กล่าวอ้างมา
เดอะนิวยอร์กไทมส์ ยังให้บริบทเพิ่มเติม โดยเฉพาะพื้นหลังของนายเจมี เมาส์ซัน ที่มักจะพูดถึงมนุษย์ต่างดาวในลักษณะทฤษฎีสมคมคิด และเขาขายอาหารเสริมด้วย
ในวันเดียวกันเองนั้น นาซาเองได้มีกำหนดการณ์แถลงข่าวผลการศึกษาวัตถุบินปริศนาที่เป็นที่พูดถึงกันก่อนหน้านี้ ที่เกิดจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ สามารถบันทึกภาพปรากฏการณ์บางอย่างที่ยังไม่สามารถถูกอธิบายได้ว่าคืออะไร ดังนั้นนาซาในฐานะหน่วยงานที่ศึกษาด้านการบินและอวกาศ จึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยกองทัพตรวจสอบ โดยผลออกมาปรากฏว่านาซาเอง ก็ยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอเพื่อจะสรุปว่าสิ่งที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ บันทึกมาได้นั้นคืออะไร และพวกเขาก็ยังคงต้องเก็บข้อมูลต่อไป
หากพิจารณาเราจะเห็นว่าทั้งสองข่าว ไม่ได้มีจุดใดที่จะถูกนำมาเชื่อมโยงกันได้เลย จึงเป็นเพียงสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันเฉย ๆ แล้วเหตุใดทำไมการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่างดาวจึงเป็นปัญหา คำถามนี้อาจจะตอบได้หากเราพิจารณาถึงบริบททางสังคมและธรรมชาติของคนที่มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องลึกลับ หรือจัดว่าอวกาศ การค้นพบ มนุษย์ต่างดาว และสิ่งลี้ลับ เป็นหัวข้อเดียวกัน ทั้งที่จริง ๆ แล้ว กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Methodology) นั้น อาศัยข้อมูลและการตีความ อย่างเป็นระบบในการถามหาความจริง ๆ และหลีกเลี่ยงกระบวนการคิดที่เป็นตรรกะวิบัติ (Fallacy) เช่น การเชื่อมโยงเหตุและผลอย่างไร้ที่มาที่ไป การเลือกนำเสนอข้อมูลที่เข้าข้างตัวเอง เป็นต้น
ในการนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์นั้น มีข้อพึงระวังอย่างมากในการอธิบายถึงกระบวนการศึกษา เพื่อไม่ให้เกิดการตีความที่ผิดพลาด หรือมีความหมายผิดเพี้ยนไป แต่จากกรณีของข่าวทั้งสองเราจะสังเกตเห็นการพาดหัวข่าวไปในลักษณะที่นำเอาการกล่าวอ้างมาเป็นข้อมูล โดยที่ไม่ได้บอกว่าเป็นเพียงการกล่าวอ้าง เช่น “ตะลึงทั่วโลก สภาเม็กซิโกเผยซาก 'มนุษย์ต่างดาว' อายุกว่าพันปี อึ้งมีสามนิ้ว” หรือ “ตะลึง! เผยซากปริศนาคล้าย “มนุษย์ต่างดาว” พิสูจน์แล้วไม่ใช่ DNA ชาวโลก” ซึ่งล้วนแต่เป็นการสรุปผลที่ไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
กรณีนี้จึงน่าตั้งคำถามถึงความสามารถของสื่อมวลชนในการนำเสนอ และตีความข่าวสารวิทยาศาสตร์ รวมถึงบทบาทการเป็นผู้คัดกรองข้อมูลที่จะนำไปสู่ผู้อ่าน (Gate Keeper) และ กำหนดวาระข่าวสาร (Agenda Setting) ตามทฤษฎีบทบาทสื่อสารมวลชน
หากพิจารณาในทางวิชาการแล้ว การค้นพบร่างของมนุษย์ต่างดาวรวมถึงการนำเอาร่างมานำเสนอนั้น สามารถถูกพิสูจน์ได้ด้วยคำถามง่าย ๆ เช่น เหตุใดมนุษย์ต่างดาวถึงมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับที่สื่อประกอบสร้างขึ้น ซึ่งจะสะท้อนค่านิยมของสังคมในการประกอบสร้างมนุษย์ต่างดาวให้มีลักษณะหน้าตาคล้ายมนุษย์ หรืออาจตั้งคำถามต่อสิ่งที่นายเจมี เมาส์ซันอ้างว่าได้ศึกษาถึงอายุของร่างดังกล่าวนั้น ใช้กระบวนการแบบใด โดยทั้งหมดนี้ก็อาจเพียงพอให้กรณีร่างของมนุษย์ต่างดาวไม่ได้มีความสลักสำคัญพอที่จะมาอยู่บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ได้
เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัจจุบัน หน่วยงานวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็กำลังค้นหาความเป็นไปได้ของการมีสิ่งมีชีวิตนอกโลก หากแต่กระบวนการศึกษาเหล่านั้นถูกทำบนรากฐานของวิทยาศาสตร์ ตรรกะ และเหตุผล ไม่ใช่การหยิบยกคำกล่าวอ้างขึ้นมา และหากสื่อมวลชนมีหน้าที่กำหนดวาระข่าวสาร การหยิบยกเรื่องราวที่มีกระบวนการชัดเจนมาก็ย่อมเกิดประโยชน์แก่ผู้รับสารมากกว่า ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เรียกว่าข่าว แท้จริงอาจเป็นแค่นิยาย (Fiction) เท่านั้น
ที่มาภาพ: AFP
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech