พฤ โอโดเชา .. กะเหรี่ยง เป็นเพียงสัตว์ประหลาด มีแค่ “ยอมถูกจับ” หรือ “ยอมสูญสิ้นเผ่าพันธุ์”
ตั้งแต่ปลายปี 2565 ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ (กันยายน 2566) ชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่อาศัยอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ป่าตะวันตกของประเทศไทย กำลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เสนอให้ลงชื่อยอมรับการอนุญาตให้ทำกินในที่ดินตามที่กำหนดไว้ให้ครอบครัวละ 1 แปลง
เงื่อนไขที่สำคัญ คือ ถ้าไม่ยอมรับ ก็จะถูกจับกุมดำเนินคดีฐานบุกรุกป่า
ปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นจากการออก “พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ” โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ถ้าอ่านทีละคำตามตัวอักษร ก็น่าจะเป็นกฎหมายที่ดี น่าจะเป็นการอนุญาตให้ทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ น่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะมาช่วยแก้ปัญหาข้อพิพาทที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่อาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่ป่า
แต่ทำไม ในสายตาของชาวกะเหรี่ยงกลับมองว่า ถ้าพวกเขายอมรับตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เผ่าพันธุ์กะเหรี่ยงก็จะหมดไปในอีกไม่กี่ปี
“ชาวกะเหรี่ยงไม่ได้เคยคิดถึงการถือครองที่ดินเป็นของตัวเอง ในความคิดของชาวกะเหรี่ยง เราทำไร่เสร็จแล้ว ที่ดินตรงนั้นเราก็คืนกลับไปให้กลับเจ้าป่าเจ้าเขา คืนกลับไปให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟู พวกเราชาวกะเหรี่ยงจึงมีวิถีการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งจะคืนที่ดินที่เก็บเกี่ยวไปแล้วให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูไปอีก 7 ปี ไร่ของพวกเราจึงไม่เคยต้องใช้สารเคมี และป่าที่เราอยู่กันมามากกว่าร้อยปี ก็ยังเป็นป่ามาถึงปัจจุบัน ... แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่รัฐอยากเห็นจากเรา”
พฤ โอโดเชา ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือ
พฤ โอโดเชา หนึ่งในชาวกะเหรี่ยงที่มีบทบาทเป็นนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิการอยู่อาศัยในถื่นที่อยู่ดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง พูดถึงหลักคิดที่เป็นปรัชญาสำคัญในการดำรงชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติตามวิถีกะเหรี่ยง นั่นคือ “การทำไร่หมุนเวียน” ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเชื่อกันว่า เป็นรูปแบบการทำการเกษตรที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ
“เราทำไร่หมุนเวียน ช่วยอนุรักษ์ป่ากันมาอย่างยาวนาน ป่าที่เราอาศัยอยู่ตั้งแต่บรรพบุรุษก็ยังอุดมสมบูรณ์จนรัฐสามารถมาประกาศเป็นเขตอุทยาน หรือประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้ด้วยซ้ำ แต่อยู่ๆก็มาบอกว่า ให้เรายอมรับการรังวัดที่ดินของเจ้าหน้าที่ จะอนุญาตให้ทำกินครอบครัวละ 1 แปลง มีเงื่อนไข 26 ข้อที่เราต้องลงชื่อยอมรับด้วย ถ้าเรายอมรับก็จะทำถนนมาให้ หาแหล่งน้ำมาให้ แต่ถ้าไม่ลงชื่อยอมรับและยังไปทำไร่หมุนเวียนอีก ก็จะถูกจับดำเนินคดี”
แบบนี้ไม่ใช่การลงมาสอบถาม แต่เป็นการบีบบังคับให้ชาวกะเหรี่ยงต้องลงชื่อ
“มันหมายความว่า เขาห้ามเราทำไร่หมุนเวียนอีก ต้องทำในแปลงเดิมทุกปี ต้องไถให้เตียนทุกปี ต้องปลูกพืชเป็นแถวเป็นแนวสวยงาม อีกไม่นานเราก็คงต้องเปลี่ยนจากการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัวไปใช้ปุ๋ยเคมีแทน มันก็น่าคิดนะครับว่า แล้วแบบไหนมันดีกว่ากัน”
พฤ เป็นนักต่อสู้ที่เดินตามรอยพ่อซึ่งเป็นปราชญ์ของชาวกะเหรี่ยง “จอนิ โอโดเชา” มาตลอด จึงกลายเป็นหนึ่งในบุคคลสาธารณะ คล้ายเป็นผู้มีปากเสียงแทนชาวกะเหรี่ยงที่ต้องเข้าไปมีบทบาทกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้ แต่เขายอมรับว่า เขากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ทำอะไรไม่ถูก เพราะหากต้องชักชวนให้ชาวกะเหรี่ยงขัดขืนด้วยการไม่ลงชื่อยอมรับสิทธิ ก็อาจทำให้พวกเขาถูกจับกุมดำเนินคดี แต่หากจะต้องยอมรับข้อเสนอของกรมอุทยานฯ พฤ ก็เชื่อว่า นี่คือสัญญาณของการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์
ถ้าไม่มีใครทำอะไรสักอย่างกับกฎหมายนี้ กะเหรี่ยงรุ่นพวกเราคงจะเป็นกะเหรี่ยงรุ่นสุดท้ายแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... อ้างอิงมาจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2516 ซึ่งระบุไว้ใน 2 มาตรา คือ
มาตรา 64 วรรค 2 ที่ระบุไว้ว่า ในกรณีที่รัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ จัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ โดย “มิได้สิทธิในที่ดินนั้น” เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยตราเป็นพระราชกฎษฎีกา
มาตรา 64 วรรค 3 ระบุว่า ต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชนภายใต้โครงการที่จะดำเนินการ หน้าที่ของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพภายในเขตพื้นที่ดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอยู่อาศัยหรือทำกิน และการสิ้นสุดการอยู่อาศัยหรือทำกิน และมาตรการในการกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผลการดำเนินโครงการ จำจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
ดังนั้น ในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มาตรา 4 จึงระบุว่า บุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชนภายใต้โครงการต้องเป็นผู้ไม่มีที่ดินทำกินตามที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ สำรวจภายใต้กรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 30 มิถุนายน 2541 หรือเป็นไปตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 (17 มิ.ย.2557) และเมื่อสำรวจการถือครองที่ดินแล้ว ให้จัดทำรายชื่อบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตอุทยานฯ พร้อมด้วยจำนวนที่ดินและแผนผังแปลน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา “ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่” โดย “มิได้มีสิทธิในที่ดินนั้น” และมีระยะเวลาบังคับใช้ “คราวละไม่เกิน 20 ปี”
นอกจากการให้สิทธิในรูปแบบการทำเกษตรแปลงเดี่ยว ไม่มีสิทธิถาวร มีกำหนดเวลา 20 ปี ยังมีเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการใน มาตรา 8 นั่นคือ “จะต้องไม่ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันควร” ซึ่งเป็นข้อความสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับวิถีการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงอย่างสิ้นเชิง
ปู่คออี้ ปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี
เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา ที่กำลังอยู่ในกระบวนการสำรวจสิทธิในหลายพื้นที่ขณะนี้ ทำให้คำว่า “กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย” เป็นคำที่ พฤ โอโดเชา หวาดกลัว .... เป็นความหวาดกลัวเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นกับ “ปู่คออี้” ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานที่บ้านบางกลอย
สำหรับ พฤ โอโดเชา คำว่า “กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย” ไม่ได้หมายความว่า บุคคลที่มีสายเลือดหรือเชื้อชาติกะเหรี่ยงจะสูญสิ้นหมดไปจากโลกใบนี้
แต่เขาเห็นพ้องกับคำว่า กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย เพราะคำว่า “กะเหรี่ยง” หมายถึงชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศในป่า ได้กินจากป่า ได้อาศัยจากป่า ก็ต้องดูแลรักษาป่า ต้องคืนธรรมชาติกลับไปให้ป่า โดยมีรูปแบบทำการเกษตร “ไร่หมุนเวียน” เป็นหัวใจหลักของการทำกินในพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน
ดังนั้น หากชาวกะเหรี่ยงต้องถูกบีบให้เปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรไปเป็นเกษตรแปลงเดี่ยว จิตวิญญาณการดูแลรักษาป่าของพวกเขาก็จะสูญสลายไปหมดสิ้น ชาวกะเหรี่ยงรุ่นต่อๆไปก็จะไม่เข้าใจวิถีนี้อีกแล้ว
จึงมีค่าเท่ากับการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์
“เขาทำเหมือนกะเหรี่ยงเป็นสัตว์ประหลาด”
“ทั้งที่เราอยู่อาศัยกันมาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ แต่เขากลับทำเหมือนกับเราเป็นคนต่างด้าวที่ต้องไปทำพาสปอร์ตใหม่เพื่อมาทำกินในที่ดินของตัวเอง การสร้างเงื่อนไขทางกฎหมายขึ้นมาใหม่แบบนี้ คือการบอกให้เรายอมรับว่าเป็นผู้บุกรุก และต้องไปขออนุญาตทำกิน และพวกเราก็แทบไม่มีพลังที่จะไปต่อสู้อะไรกับรัฐ”
ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงทั่วไป
พระราชกฤษฎีกานี้ ทำให้เราแตกแยกกันหมด โดยหลักแล้ว ทุกคนก็คงอยากจะสู้เพื่อรักษาวิถีชีวิต รักษาเผ่าพันธุ์ของเราไว้ แต่เราก็เห็นกันมาแล้ว ว่ามีบางชุมชนอย่างที่ป่าแก่งกระจานก็ถูกจับกุมดำเนินคดี คนที่เขามีภาระต้องดูแลลูกหลานเขาก็ไม่กล้าออกมาต่อสู้
ต้องยอมรับเงื่อนไข ต้องลงชื่อไป และเปลี่ยนวิถีตัวเองกลายไปเป็นผู้ใช้แรงงานในเมือง แม้คนที่อยากจะต่อสู้เขาจะพร้อมเผชิญกับความเสี่ยง แต่จะไปบังคับคนที่เขากลัวถูกจับก็ไม่ได้ พอมีความกลัวเชิงอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เรารวมกลุ่มกันต่อสู้ไม่ได้ การจะไปประท้วงจึงเป็นเรื่องยาก” ปราชญ์ชาวกะเหรี่ยง กล่าวแบบหมดหวัง
ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ ระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนานแล้ว เนื่อง จากทั้งสองฝ่ายมีแนวคิดต่อคำว่า “อนุรักษ์” ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยทางฝ่ายรัฐ ต้องการสงวนให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เป็นป่าต้นน้ำ เป็นเหมือน “พื้นที่ไข่แดง” ซึ่งไม่สามารถยอมรับให้มีคนเข้าไปอยู่อาศัยทำกินได้
ส่วนชาวกะเหรี่ยงเองก็ยืนยันว่า พวกเขาอยู่ในป่ามาก่อน มีวิถีชีวิตและรูปแบบการทำกินที่เป็นการใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน จึงควรมีสิทธิอยู่อาศัยต่อไปในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในการดูแลรักษาป่าด้วยซ้ำ
วิถีชีวิตและวัฒนธรรมเรียบง่ายของชาวกะเหรี่ยง
พฤ โอโดเชา บอกด้วยว่า ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขข้อพิพาทนี้ผ่านกลไกที่เรียกว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. แต่ก็ยังเป็นกลไกที่ชาวกะเหรี่ยงไม่สามารถยอมรับได้ เพราะรูปแบบที่ คทช.เสนอมา ก็เป็นรูปแบบเดียวกันกับแนวทางของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งแม้ว่าอาจจะมีแนวการทำเกษตรที่ดี ขึ้น ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจไม่ใช่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำโรงเรือนแบบปิด ช่วยสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งหมดนั้น ก็มีค่าเท่ากับการไม่ยอมรับ “ไร่หมุนเวียน” และจะทำให้วิถีดั้งเดิมสูญสิ้นไปอยู่ดี
ความขัดแย้งระหว่างชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่ากับหน่วยงานรัฐ มีตัวอย่างสำคัญคือความขัดแย้งที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ซึ่งถูกจัดสรรที่ดินใหม่ให้มาอาศัยอยู่บริเวณลานหิน ไม่สามารถทำกินตามวิถีชีวิตเดิมได้ จนต้องอพยพกลับไปอยู่ในพื้นที่ป่าที่เรียกว่า “บางกลอยบน” จนถูกไล่จับกุมเมื่อปี 2554 กลายเป็นคดีความที่ทำให้ “ปู่คออี้” ผู้นำชาวกะเหรี่ยงอายุมากกว่า 100 ปี ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ฟ้องต่อศาลปกครอง
ต่อมาศาลมีคำสั่งให้รัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการขับไล่ด้วยการเผาทำลายทรัพย์สิน แต่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยก็ต้องกลับมาอยู่อาศัยในที่ดินที่จัดไว้ให้เช่นเดิม ซึ่งในระหว่างการต่อสู้อันยาวนานนับ 10 ปี มีผู้ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ถูกยิงเสียชีวิต ยังมีเรื่องของ “บิลลี่” แกนนำชาวกะเหรี่ยงที่หายตัวไปหลายปีก่อนจะกลายมาเป็นคดีฆาตกรรม และยังมีชาวกะเหรี่ยงอีกมากมายที่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกพื้นที่อุทยาน แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ
“การสูญเสียวิถีดั้งเดิม มีค่าเท่ากับการสูญเสียจิตวิญญาณของกะเหรี่ยงไป หากพระราชกฤษฎีกานี้บังคับใช้ทั่วทุกหย่อมหญ้า พวกเราชาวกะเหรี่ยงทั้งหมดจะสูญพันธุ์อย่างแน่นอน”
“นี่คือสิ่งที่ ปู่คออี้ หวาดกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับลูกหลานของท่านในป่าแก่งกระจาน เพราะถ้าเรารักษาจิตวิญญาณนี้ไว้ไม่ได้ ลูกหลานเราจะถูกเปลี่ยน ถูกกลืน กลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่รู้จักแม้กระทั่งวิถีของตัวเอง ... นั่นคือเหตุผลที่ปู่คออี้ ลุกขึ้นมาต่อสู้จนตาย และมันกำลังจะเกิดขึ้นกับกะเหรี่ยงทุกหมู่บ้านในประเทศไทย”
“ผมหวังว่า เราจะยังไม่ต้องเป็นกะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย เหตุผลที่เราสู้มาตลอดไม่ใช่เพื่อจะขอที่ทำกินเพื่อหวังความร่ำรวย เราแค่อยากให้รัฐลองเปิดใจมาศึกษาวิถีไร่หมุนเวียนของเราอย่างจริงจัง เราอยากให้เห็นว่ามันช่วยดูแลรักษาป่าได้ดี เราทำเกษตรแบบที่ไม่เคยต้องใช้สารเคมี ถ้ารัฐยอมรับวิถีของเรา นำมาปรับข้อกฎหมายให้เราอยู่ร่วมกันได้ เราก็จะสามารถรักษาได้ทั้งวิถีของเราและรักษาป่าได้ต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน” พฤ กล่าวทิ้งท้าย
รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
EP.2 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย ยอมเลิกทำไร่หมุนเวียน
EP.3 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย สิทธิชอบธรรมของผู้ดูแลป่า
EP.4 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย จัดที่ดินทำกินในอุทยานฯ "ล้างเผ่าพันธุ์กะเหรี่ยง"