สำหรับผู้เสพ หรือผู้ใช้ยาเสพติดมาอย่างยาวนาน แม้ตามกฎหมายใหม่ จะใช้แนวทาง "ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย" ไม่ต้องถูกดำเนินคดี และแม้จะนำตัวไปบำบัดรักษา ก็ใช่ว่าจะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถเลิกใช้ยาเสพติด อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงมีการเสนอทางเลือกให้ใช้ Harm Reduction ด้วยว่าเคยมีผู้เคยเสพที่ชนะใจตนเอง จากกระบวนการดังกล่าว และเลิกใช้ยาเสพติดได้ในที่สุด
สุพจน์ หรือ ตี๋ ตั้งเสรีทรัพย์ ผู้จัดการกลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม หรือ APASS เล่าว่า ในอดีตเคยเป็นผู้ติดสารเสพติดและใช้เฮโรอีนตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยม เคยถูกจับกุมและถูกส่งตัวไปบำบัดหลายครั้ง และสามารถเลิกใช้ยาเสพติดได้สำเร็จ จากการเข้ารับการบำบัดโดยใช้เวลา 1 ปี 10 เดือน
"ก่อนเข้ารับการบำบัด ผมเรียนหนังสือไม่ได้ บอกแม่ว่า จะขอหยุดเรียน เพื่อบำบัดให้ได้ก่อน ซึ่งใช้เวลานานมาก หลังเลิกยาเสพติดได้ กลับบ้าน ไปทำงานขับรถสองแถว ต่อมาได้รับการติดต่อจากหน่วยงานที่เคยไปบำบัดยาเสพติด ให้เป็นวิทยากร เมื่อไปทำงานทำให้รู้ว่า เรามีประโยชน์กับพวกเขามากจากประสบการณ์ตรง ก็เข้าใจความรู้สึกของคนที่ต้องการยา และรู้ว่าเราจะคุยหรือปฏิบัติกับเขาอย่างไร" สุพจน์ เล่า
ระบบบำบัดผู้เสพยาฯ ปัจจุบันไม่ได้ผล
ปัจจุบันมีผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดจำนวนมาก สูงถึงร้อยละ 80 ขณะที่ระบบสาธารณสุขไม่พร้อม บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ที่มีเชี่ยวชาญเรื่องยาเสพติดโดยตรงมีน้อยมาก กระบวนการบำบัดแต่ละรอบใช้เวลาสั้นๆ ไม่กี่วัน ทำให้ผู้เสพไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้จริง หากทำแนวทางนี้ต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งทำให้การบำบัดถูกใช้เป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งทางกฎหมาย และไม่มีใครเชื่อว่าจะได้ผล
สุพจน์ เล่าว่า หลังจากได้ศึกษากระบวนการ Harm Reduction หรือ การลดอันตรายจากการใช้ยา ซึ่งในหลายประเทศประสบความสำเร็จสามารถลดจำนวนผู้ติดยาเสพติด และจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV ลงไปได้มาก จึงก่อตั้งองค์กร APASS เพื่อทำงานนี้อย่างจริงจัง โดยขอทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากกระบวนการนี้ทำได้ยากในไทย หากไม่ถูกกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน
APASS เป็นชื่อย่อ ตั้งให้สอดคล้องกับคำว่า "อภัย" พวกเรา ต่างรอดชีวิตจากยาเสพติดได้ เพราะได้รับการให้อภัย จากคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน ชุมชน และสังคม และได้ข้อสรุปตรงกันว่า คนส่วนใหญ่ที่หันหลังจากยาเสพติดได้จริง เพราะได้รับโอกาส การให้อภัย ความรักความเข้าใจ ไม่ใช่เข้าเรือนจำหรือถูกบังคับให้บำบัด
APASS (Association To Promote Access To Health And Social Support) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ตั้งขึ้นมา 3 ปีแล้ว เกิดจากการรวมกลุ่มของคนที่เคยทำงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหายาเสพติด มีแนวทางชัดเจน เน้นทำ งานให้ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการลดอันตรายจากการใช้ยา และเรื่อง "โรคภัย" ที่มาจากการใช้ยาเป็นประตูเข้าไปสู่การแก้ไขผู้ติดยาเสพติด
เมทาโดนชุมชน นำร่องภาคเหนือ ขยายลงใต้
ตั้งแต่ 1 ม.ค.2564 - ก.ย.2566 APASS มีทีมลงพื้นที่ทำงานใน 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี ปัตตานี และ ยะลา สามารถเข้าถึงผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มที่จะติดโรคจากการใช้เข็มฉีดยาและมีเพศสัมพันธ์ไปได้ 1,742 คน ได้รับการตรวจหาเชื้อ HIV 596 คน ตรวจไวรัสตับอักเสบซี 548 คน และตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 536 คน
สุพจน์ บอกว่า เหตุที่ต้องใช้เรื่องโรคภัยเป็นประตูเข้าไปหาผู้ใช้ยาเพราะเป็นเรื่องเดียวกัน หากตรวจพบ มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี หรือโรคซิฟิลิส ก็สามารถเข้ารับการรักษาที่นี่ได้เลย แต่กรณีที่พบว่าติดเชื้อหนองในก็จะส่งต่อไปคลินิกกามโรค หรือติดเชื้อ HIV ก็จะประสานส่งตัวไปรับยาต้านไวรัสที่โรงพยาบาลตามสิทธิ
ส่วนวิธีการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดที่แท้จริง นั่นคือ การให้ดื่มยาที่เรียกว่า "เมทาโดน" ซึ่งผู้เข้ารับบริการต้องมารับเมทาโดนทุกวัน ที่ผ่านมาจึงทำได้เพียงช่วยประสานข้อมูลผู้ป่วยกับโรงพยาบาลที่มีสิทธิจ่ายยาได้เท่านั้น บางจังหวัดก็ประสานให้โรงพยาบาลจัดการจ่ายเมทาโดนให้ผู้ติดยาได้ แต่ยังมีข้อจำกัดจากปัญหาเดิมๆ คือ ทัศนคติที่เป็นลบต่อผู้ติดยาเสพติด
"ที่จังหวัดหนึ่ง เราคุยกันจนทำให้โรงพยาบาลยอมจ่ายเมทาโดนให้ผู้เสพ แต่ผู้ที่รับเมทาโดน จะต้องมารับวันละครั้งทุกวัน ปัญหาคือ เขาก็ไปจัดพื้นที่คลินิกเมทาโดนไว้ที่ป้อม รปภ.หน้าโรงพยาบาล ด้วยเหตุผล ไม่อยากปะปนกับผู้ป่วยทั่วไปที่มารับบริการในโรงพยาบาล เปิดให้บริการแค่ช่วงเที่ยงถึงบ่ายโมง วันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น และผู้รับยาต้องถือแก้วน้ำไปเอง พอเป็นแบบนี้ก็มีแค่คนที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล ที่มารับเมทาโดนได้ทุกวัน"
ส่วนคนต่างอำเภอต้องเดินทางไกลระยะทาง 30 กิโลเมตร เสียเวลา และ เสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ทำให้ไม่อยากมา ในบางพื้นที่อาจถูกตำรวจเรียกจับกุมระหว่างทางอีก จึงมีคำถามว่าทำไมรัฐบาลจะต้อมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
"เมทาโดนชุมชน" เป็นโครงการต้นแบบที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในพื้นที่ทางภาคเหนือ จึงเป็นหนึ่งในโครงการที่เราจะทำให้เกิดขึ้นในปี 2567 ที่ อ.แว้ง และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีฐานข้อมูลของผู้รับบริการอยู่แล้ว จากเดิมที่เปิดให้ผู้ติดยาเสพติดต้องไปรับเมทาโดนที่โรงพยาบาล จะเปลี่ยนให้ไปรับที่ชุมชนและเจ้าหน้าที่ของโครงการได้เลย แต่ต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว
สุพจน์ กล่าวอีกว่า Harm Reduction ยังไม่แพร่หลายในสังคมไทย แม้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ปี 2564 จะเปิดช่องให้ผู้พิพากษาส่งผู้ติดยาเสพติดไปเข้ากระบวนการดังกล่าวได้แล้ว มีหลายชุมชนที่ทดลองใช้วิธีการนี้และได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจก็ตาม
แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านที่สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการทำ Harm Reduction คือ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำ Harm Reduction ในไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกหรือ Global Fund ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศทั้งหมด 100% เพราะไม่สามารถหาแหล่งทุนในประเทศได้
"ปัญหาที่พบ คือ ตัวผู้ติดยาเสพติดและครอบครัว ยังหวาดระแวงในการเข้าร่วมโครงการ บางรายกว่าจะชวนเข้าร่วมโครงการได้ต้องใช้เวลาเป็นปี เพราะเขาไม่รู้จักกระบวนการนี้ บางคนก็คิดว่าเราเป็นสายตำรวจเข้าไปหลอกจับกุม และมองว่าเราคือพวกขบวนการค้ายาเสพติดเข้าไปชักชวนลูกหลานเขาให้ไปค้ายา" สุพจน์ กล่าว
รัฐบาลพรรคไทยรักไทยในอดีตที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เคยดำเนินนโยบาย "ประกาศสงครามกับยาเสพติด" ด้วยการปราบปรามอย่างเข้มงวด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,500 ราย และยังมีคำถามตามมามากมายว่า เป็นวิธีการที่เอาชนะยาเสพติดได้จริงหรือไม่
ลุล่วงเข้ารัฐบาลเพื่อไทยที่ประกาศนโยบายยาเสพติด ชัดเจนว่า จะเน้นการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติดให้กลับคืนสู่สังคม โดยจะจัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด" ขึ้นมาใหม่ โดย เศรษฐา ทวีสิน จะนั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง
จึงน่าสนใจว่า Harm Reduction จะเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ในการนำมาใช้อย่างจริงจังได้หรือไม่ เพราะในปัจจุบันมีทั้งสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศด้านกระบวน การยุติธรรมมากมายที่ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยวิธี Harm Reduction อยู่แล้ว
รายงานโดย :สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา
อ่านข่าวเพิ่ม : Harm Reduction โจทย์ใหม่ รัฐบาลเศรษฐา