วันนี้ (29 ก.ย.2566) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี เรียกเข้าพบในวันจันทร์หน้า (2 ต.ค.2566) โดยไม่ได้ระบุวาระการประชุม หรือข้อหารือ แต่พร้อมตอบทุกคำถาม ก่อนปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น หลังถูกผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวปลดออกจากตำแหน่ง จากกรณีแสดงความเห็นนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล
แม้เศรษฐกิจไตรมาส 2 จะชะลอตัว และจีดีพีทั้งปีนี้ ลดลงต่ำกว่าประมาณการณ์ เช่นเดียวกับ เงินเฟ้อ ที่ชะลอตัวลง แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่มี ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เป็นประธาน มีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกร้อยละ 0.25 ต่อปี ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี
ผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล่าวว่า กนง.ไม่ได้ใช้ข้อมูลที่มีปัจจุบัน เป็นเครื่องมือพิจารณากำหนดนโยบายการเงิน แต่พิจารณาจากข้อมูลแนวโน้ม และความเสี่ยงที่อาจกระทบเศรษฐกิจไทย ในระยะข้างหน้า
หลังประเมินปัญหาเอลนีโญ จะกระทบราคาอาหารโลกในปีหน้าอย่างรุนแรง รวมทั้งแนวโน้มราคาน้ำมัน นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายแจกเงินดิจิทัล จะกระทบเงินเฟ้อปีหน้าปรับตัวสูงขึ้น
กนง. จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรองรับความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพในระบบ โดยระดับดอกเบี้ยนโยบายขณะนี้ ถือว่าเหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจไทยแล้ว และพร้อมทบทวนนโยบายการเงิน หากไม่เป็นไปตามคาดการณ์รอบนี้
ส่วนปัญหาเงินบาทอ่อน ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ระบุว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง โดยเงินทุนสุทธิไหลออก มากกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับจากต้นปี สวนทางกับ ประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากปัญหาการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับ เศรษฐกิจไทย มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง
แต่เงินบาทไทยอ่อนค่าลงเร็ว และแรงมากกว่าสกุลเงินในภูมิภาค เพราะปัญหาความไม่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลช่วงที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาถึงความกังวลต่อฐานะทางการคลัง จากนโยบายแจกเงินดิจิทัล ซึ่งบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ กำลังจับตามองนักลงทุนต่างชาติ จึงลดความเสี่ยงจากตลาดเงินตลาดทุนไทย
สำหรับงานสัมมนาประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “BOT Symposium 2023” ซึ่งปีนี้ แบงก์ชาติ จัดงานในหัวข้อ “คน : The Economic of Well-Being” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล่าวว่า หัวข้อจัดงานสัมมนาประจำปีนี้ อาจดูไม่เข้ากับการทำงานหลักของแบงก์ชาติ แต่เห็นว่า ปัญหาเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และหนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาทางสังคมอย่างหนึ่ง
จึงอยากนำหัวข้อเกี่ยวกับคน ความหวัง และโอกาสของคนซึ่งศ าสตราจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ให้ความสำคัญก่อนนำประเด็นข้อคิดเห็นในงานสัมมนานี้ กลับมาทบทวนการทำงานต่อไป
หลังพบปัญหาไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ แต่คนไทยส่วนใหญ่ ยังคงประสบปัญหา “แก่ก่อนรวย” และ “ป่วยก่อนตาย” กล่าวคือ ช่วงชีวิตยาวนานขึ้นแต่ช่วงสุขภาพที่ดีไม่ยาวนานตาม และขาดความมั่นคงทางการเงิน คือ มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอจับจ่ายใช้สอยและรักษาสุขภาพ
เช่นเดียวกับประชากรวัยเด็กที่ประสบปัญหา ความเท่าเทียมกันทางการศึกษาและโภชนาการที่ไม่สมดุล เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่กำลังกระทบเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต
อ่านข่าวอื่นๆ
“นายกฯ” ระบุเทหมดหน้าตักฟื้นเศรษฐกิจ-พักหนี้-หนุนต่างชาติลงทุน
ศาลสั่งปรับ "จิน" 5 พัน โพสต์ดูหมิ่น "แซน-กระติก" ชดใช้คนละ 5 หมื่นบาท