ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็กอาการที่บ่งบอก "โรคไอกรน" ในเด็ก ปี 66 พบป่วยแล้ว 13 คน

สังคม
4 ต.ค. 66
07:03
747
Logo Thai PBS
เช็กอาการที่บ่งบอก "โรคไอกรน" ในเด็ก ปี 66 พบป่วยแล้ว 13 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือน ระวัง "โรคไอกรน" อาการเป็นอย่างไร ต้องรีบไปพบแพทย์ แนะผู้ปกครองพาบุตรหลานฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด

วันนี้ (4 ต.ค.2566) นพ.เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วย "โรคไอกรน" ในระบบรายงาน 506 (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 18 ก.ย. 2566) ทั้งหมด 13 คน เสียชีวิต 1 คน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ ต่ำกว่า 1 ปี (ร้อยละ 46.15) สำหรับเขตสุขภาพที่ 12 พบผู้ป่วยยืนยัน 2 คน เสียชีวิต 1 คน ใน จ.ปัตตานี

รู้จัก โรคไอกรน เกิดจากอะไร อาการต้องรู้

โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (B. pertussis) ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม สัมผัสกับสารคัดหลั่งและเครื่องใช้ของผู้ป่วย

ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อในเด็ก ซึ่งอาการของโรคไอกรนในเด็กอาจรุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิตได้ โดยอาการของโรคจะแสดงหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 6 - 20 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูก และไอ โดยอาจเป็นต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์

จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการสำคัญของโรคคือ ไอเป็นชุด ๆ ถี่ ๆ ติดกัน 5 - 10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น จนทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และพยายามหายใจเข้าลึก ๆ และมีเสียงดังวู๊ป สลับกับการไอเป็นชุด ทั้งนี้อาการที่กล่าวมาอาจเป็นเรื้อรังติดต่อกันนานถึง 2 - 3 เดือน

หากมีผู้ป่วยไอกรน ควรแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อผ่านน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ในผู้สัมผัสโรคควรสังเกตว่ามีอาการไอหรือไม่ ติดตามอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่สัมผัสโรคใกล้ชิดควรไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ แม้จะได้รับวัคซีนป้องกันครบแล้วก็ตาม

นพ.เฉลิมพล กล่าวว่า สคร.12 สงขลา ขอแนะนำให้ประชาชนนำบุตรหลานอายุต่ำกว่า 6 ปี ไปรับวัคซีนให้ครบตามช่วงอายุที่กำหนด ( 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 1 ปีครึ่ง และฉีดเข็ดกระตุ้นเมื่ออายุ 4 ปี) พร้อมเน้นย้ำควรสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง