ในอดีตเมื่อ 300-500 ปีที่ผ่านมา มีการอพยพของชาวไทยเข้าสู่เขตปะหัง จากกลุ่มผู้ติดตามกองทัพสยามในสมัยพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่สยามยกทัพไปตีมะละกา ระหว่าง พ.ศ. 1998-2003 และตั้งชื่อว่าเมืองไชยบุรี (ออกเสียงสำเนียงเหนือเป็นไซบุรี)
ต่อมาปี พ.ศ.2067 เมืองไชยบุรีตกเป็นเมืองขึ้นของอาเจะฮ์ ประชากรในพื้นที่หันไปนับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีคนที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเช่นเดียวกัน ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ราวปี พ.ศ.2173 จึงได้เมืองไชยบุรีกลับมาตามเดิม และเปลี่ยนจากเขียน "ไซบุรี" เป็น "ไทรบุรี"
เมื่อเรือล่าอาณานิคม ของกองทัพสหราชอาณาจักรมาถึง ในปี 2451 สยามในครานั้นจำเป็นต้องยกพื้นที่ ไทรบุรี ปะลิส กลันตัน ตรังกานู เปรักตอนบน ให้เพื่อรักษาเอกราช คิดเป็นพื้นที่ 52,100 ตร.กม. แต่ชาวไทยที่อาศัยมานานหลายร้อยปีตามหัวเมืองมลายู ยังคงตั้งหลักปักฐานอยู่ นับตั้งแต่อังกฤษยึดครองมาเลเซียจนกระทั่งมาเลเซียได้รับเอกราชจนปัจจุบัน
เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย
คนไทยกระจายตัวในมาเลเซีย
รัฐกลันตัน
ชุมชนชาวไทยในรัฐกลันตันมีมากในเขตตุมปัต โกตาบาห์รู ปาซีร์มัส ปาซีร์ปูเตะห์ บาเจาะ ตาเนาะแมเราะ และ เบอสุต ชาวไทยที่นี่สามารถพูดภาษาเจ๊ะเหได้ (เจ๊ะเห คือภาษาถิ่น ที่พูดกันได้ในบางส่วนของ จ.ปัตตานี และ นราธิวาส) ชาวไทยกลุ่มนี้ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของไทยเอาไว้อยู่ โดยในเมืองตุมปัตจะมีวัดไทยตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก
วัดไทยในเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน มาเลเซีย
รัฐเกอดะฮ์และปะลิส
ชุมชนชาวไทยพุทธในรัฐเกอดะฮ์ มีหมู่บ้านคนไทยอยู่ราว 53 หมู่บ้าน มีวัด 34 วัด มีสำนักสงฆ์อยู่ 8 สำนัก และมีคนไทยอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 30,000 คน คนไทยที่นี่ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนา ทำสวนยางพารา และ เพาะปลูกพืชผัก พูดภาษาไทยถิ่นใต้ได้ เด็กส่วนใหญ่จะเรียนภาษาไทยที่วัด มีองค์กรและกลุ่มคนไทยฟื้นฟูและอนุรักษ์การเรียนการสอนภาษาไทยขึ้นในวัดไทย นอกจากนี้ยังมีหมู่ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยในรัฐปะลิส ซึ่งในรัฐปะลิสเองก็มีวัดและการสอนศาสนาและภาษาไทยแก่เด็กๆ
รัฐเปรัก
มีหมู่บ้านของคนไทยอยู่ 4 หมู่บ้าน อาศัยอยู่ 349 ครัวเรือน รวม 2,080 คน คิดเป็นร้อยละ 95 ที่นี่จะห่างจาก อ.เบตง จ.ยะลา เพียงแค่ 14 กม. เท่านั้น ส่วนใหญ่พูดภาษาไทยถิ่นใต้ และประกอบอาชีพสวนยางพารา มีกลุ่มทำนาข้าว คนไทยในเปรักส่วนใหญ่มีพื้นเพทาง จ.สงขลา ถึงร้อยละ 90 นอกนั้นเป็นกลุ่มที่มาจากพัทลุง และนครศรีธรรมราช
เกาะลังกาวี
คนไทยบนเกาะลังกาวี เป็นคนไทยที่อพยพจาก อ.ละงู จ.สตูล ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ทำนา และการเกษตร บริเวณนี้ชาวไทยยังนิยมพูดภาษาไทยกันอยู่ในชีวิตประจำวัน
กินเมืองคอน นอนเมืองไทร
"ชาวสยาม" หรือ ชาวไทยที่อาศัยในประเทศมาเลเซียส่วนใหญ่จะนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบเดียวกับคนไทยในประเทศไทย แม้ว่าในวัดไทยบางแห่งจะมีเทพเจ้าจีนที่ผู้มีศรัทธาชาวจีนมาประดิษฐานไว้ก็ตาม แต่คนไทยที่ไทรบุรีจะเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ ผสมผสานกับความเชื่อทางพุทธศาสนา และ ฮินดู
วัดไทยในกลันตันที่ได้รับอิทธิพลของจีนผสมผสาน
ในช่วงเดือนเมษายนของทุกๆ ปี คนไทยในมาเลเซียจะนัดหมายกัน พาลูกหลานที่มีอายุครบบวช มาบวชเป็นพระภิกษุที่วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ซึ่งชาวไทยกลุ่มนี้ มีความเคารพ ศรัทธา และ ความผูกพัน กับพระบรมธาตุที่นครศรีธรรมราชมาช้านานหลายชั่วอายุคนแล้ว
เนื่องจากในอดีตราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 เมืองนครศรีธรรมราชหรือตามพรลิงก์ เป็นแคว้นใหญ่ที่เจริญรุ่งเรือง เป็นเมืองศูนย์กลางในแหลมมลายู และ ไทรบุรีหรือเกอดะฮ์ เป็น 1 ใน 12 เมืองบริวารของตามพรลิงก์ เมืองนครศรีธรรมราชและรัฐไทรบุรีเป็นเส้นทางค้าขายที่สำคัญต่อกัน ผู้คนเดินทางไปมาหาสู่ เหมือนบ้านพี่เมืองน้อง จนมีคำกล่าวที่ติดปากกันสืบมาว่า "กินเมืองคอน นอนเมืองไทร"
วิถีชีวิต-วัฒนธรรม-ภาษา
ในชีวิตประจำวันชาวไทยในมาเลเซียส่วนมากจะ ทำนา ทำสวนยางพารา และ พูดภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงถิ่นของไทรบุรี ที่ใกล้เคียงสำเนียงนครศรีธรรมราช และ สงขลา แต่ก็สามารถพูดได้อีกหลายภาษา ขึ้นอยู่กับว่าพูดคุยกับใคร เช่น กับชาวจีนจะใช้ภาษาฮกเกี้ยนและภาษาจีน, กับชาวมาเลเซียใช้ภาษามลายู นอกจากนั้น ชาวไทยในมาเลเซียจะเรียนหนังสือไทยจากวัด ที่ส่วนใหญ่มีพระภิกษุหรือคนไทยอาสาสมัครเป็นผู้สอนพอให้อ่านและเขียนภาษาไทยได้ สมาคมสยามเกอดะฮ์-ปะลิส พยายามต่อสู้เพื่อคงไว้ซึ่งภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในมาเลเซีย มีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาไทยและมีการสอนให้รักชาติไทยด้วย
ภาษาไทยในกลันตัน คำเรียกสิ่งของต่างๆ ยังเป็นคำราชาศัพท์อยู่ เช่น หมวก-มาลา กางเกง-สนับเพลา รองเท้า-บาท เป็นต้น และ ลักษณะการเรียงประโยคต่างจากในประเทศไทย เช่น ออกเสียงว่า อะไรชื่อ แปลว่า ชื่ออะไร
มีการสันนิษฐานว่า ภาษาไทยในกลันตัน มีการผสมความเป็นปักต์ใต้เข้ากับสุโขทัย เชียงใหม่ และ สุพรรณบุรี เพราะในประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 2 ดินแดนแถบนี้แข็งเมือง จึงต้องส่งกองทัพมาปราบและได้กวาดต้อนคนในรัฐกลันตันไปไว้ที่กรุงเทพ เพชรบุรี และ เชียงใหม่ แล้วนำพาคนในพื้นที่มาไว้ที่รัฐกลันตัน จึงทำให้สำเนียงภาษาในพื้นที่มีลักษณะที่แปลกแตกต่างออกไป
สมาคมชาวสยามรัฐกลันตันเยี่ยมคารวะกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู
ข้อมูลจาก มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ อ้างอิง อ.นิพนธ์ ทิพย์ศรีนิมิต มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า คนไทยในรัฐกลันตันแม้จะมีความพยายามธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา แต่โลกในยุคการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นส่วนที่ทำให้อัตลักษณ์บางอย่างสูญสลายและมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งมีการสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาใหม่ บนฐานความคิดและความเชื่อที่ว่า
คนกลุ่มน้อยต้องยอมรับวัฒนธรรมของคนกลุ่มใหญ่ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของคนกลุ่มใหญ่
แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ลืมอัตลักษณ์ของตนเอง
การคงไว้ซึ่งวัดไทยและภาษาไทย รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาและพิธีกรรมให้แก่บุตรหลาน จึงเป็นแนวทางของการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม หวงแหนในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง ให้เป็นคนดีมีศีลธรรมและสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
ชนกลุ่มน้อยที่เรียบง่ายในมาเลเซีย
คนไทยในรัฐกลันตัน ดำรงฐานะเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศมาเลเซีย แต่ยังคงสิทธิความเป็นชนพื้นมืองที่ได้รับการรับรองเช่นเดียวกันคนมลายู แต่อาจมีการจำกัดสิทธิในบางเรื่อง ที่กฎหมายมาเลเซียได้กำหนดไว้มานานแล้ว
ในเรื่องนี้คนไทยแม้จะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะบรรพบุรุษอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้มาอย่างยาวนาน แต่ก็ไม่ได้เรียกร้องหรือสร้างปัญหาให้แก่รัฐแต่อย่างใด วิถีชีวิตของคนไทยในรัฐกลันตัน ที่มีลักษณะเรียบง่าย แต่ในด้านวัฒนธรรมคนไทยจึงแสดงออกอย่างเต็มที่ทั้งในด้านภาษา ศาสนา และประเพณี ซึ่งรัฐไม่ได้กีดกันถ้าการแสดงออกนั้นไม่กระทบต่อวัฒนธรรมมลายู และศาสนาอิสลาม
สถานีรถไฟฟ้ากลันตัน
ไม่ใช่เพียงชาวไทยที่อยู่ในมาเลเซีย แต่ที่ กทม. ก็มีคนกลันตันเคยอาศัยอยู่เช่นกัน ข้อมูลจากเพจ โบราณนานมา ระบุว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-3 เกิดสงครามกับหัวเมืองมลายูขึ้นหลายครั้ง และมีการกวาดต้อนเชลยศึกชาวมลายูมายังกรุงเทพฯ
"ชาวกลันตัน" ที่ถูกกวาดต้อนมานี้ ไม่ได้มาจากเมืองกลันตันแต่อย่างใด แต่มาจากเมืองปัตตานี เพราะสมัยนั้นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองเมืองปัตตานี คิอ "ราชวงศ์กลันตัน" ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการขุดคลองแสนแสบเชื่อมกับคลองพระโขนง โดยแรงงานชาวมลายูและคนกลันตัน จึงได้ตั้งชื่อคลองว่า "คลองกลันตัน" และภายหลังเรียกให้สั้นลงเหลือเพียง "คลองตัน" ซึ่งเป็นย่านที่รู้จักกันในปัจจุบัน ชื่อคลองกลันตันยังคงปรากฏในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น โรงเรียนคลองกลันตัน (มีสุวรรณอนุสรณ์)
เมื่อมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง จึงตั้งชื่อสถานีตามพื้นที่ ด้วยเหตุผลที่ว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว จะนิยมตั้งชื่อ ตามแยก แม่น้ำ คลอง ซอย และ สถานีที่สำคัญต่างๆ ซึ่งบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงสถานีกลันตัน เป็นตำแหน่งที่ตั้งของ คลองกลันตัน
ที่มา : บทบาททางสังคมและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของคนไทยในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดย วันพิชิต ศรีสุข, โบราณนานมา, มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, Wikipedia