ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สามเณรไร้รัฐ จ.เชียงใหม่ เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา

ภูมิภาค
10 ต.ค. 66
09:59
583
Logo Thai PBS
สามเณรไร้รัฐ จ.เชียงใหม่ เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้รัฐบาลไทยจะมีนโยบายให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม แต่กลุ่มสามเณรไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ในจังหวัดเชียงใหม่ กลับเข้าไม่ถึงการศึกษาในระดับประถมศึกษา

สาเหตุสำคัญเป็นเพราะโรงเรียนในสังกัด สพฐ. มีระเบียบไม่สามารถรับสามเณร หรือ พระสงฆ์ เข้าเรียนได้ แม้จะมีบางโรงเรียนผ่อนผัน แต่การลงทะเบียนชื่อนักเรียนในระบบก็ต้องใช้คำนำหน้าเป็น เด็กชาย และการจัดการศึกษาให้สามเณรเรียนร่วมกับเด็กชาย และ เด็กหญิง ก็มีข้อจำกัดหลายประการ

 

 

ขณะที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาก็จัดการศึกษาเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงตอนปลาย สามเณรที่อายุยังน้อยไม่ถึงเกณฑ์เข้าเรียน กศน. จึงกลายเป็นกลุ่มตกหล่น และมีทางเลือกไม่มากนัก

 

พระมหาสมเกียรติ สิริอรุโณ ผอ.โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา ระบุว่าจังหวัดเชียงใหม่มีสามเณรกว่า 80 รูป ไม่ได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา คณะสงฆ์โดยโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษาฯ อำเภอเมืองเชียงใหม่ และ โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์ (วัดปทุมสราราม) อำเภอดอยสะเก็ด จึงร่วมทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ มูลนิธิภาคประชาชน

 

จัดตั้ง "ห้องเรียนประถมเตรียมมัธยม" ให้สามเณรซึ่งไม่เคยเข้าเรียน หรือ หลุดจากระบบการศึกษาระดับประถมศึกษา เข้าสู่ระบบการศึกษาของสถาบันการศึกษาทางไกลภายใต้องค์กรการศึกษาในจังหวัดเชียงราย

 

สามเณร เป็นศาสนทายาท เมื่อไม่มีโอกาสเข้ามาสู่ระบบการศึกษา วัด ไม่มีศักยภาพที่จะจัดการเรียนการสอนให้ เราในฐานะนักจัดการศึกษา ผู้บริหาร และ คณะครู ก็พร้อมที่จะทดลองจัดตั้งห้องเรียนชั้นประถมนำร่องให้เขาได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ เหมือนนักเรียน ม.1 ถึง ม. 6

 

 

พระอธิการสถิตย์ สิริวิชโย เจ้าอาวาสวัดหนองบัวในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่าในวัดมีสามเณรกว่า 30 กว่ารูป ส่วนใหญ่เดินทางมาจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมา หลายคนประสบปัญหาครอบครัวหย่าร้าง หรือ ผู้ปกครองประสบภัยสงคราม ญาติจึงนำมาฝากให้บวชอยู่ในวัด

 

หากสามเณรเหล่านี้ไม่ได้เรียนหนังสือก็จะทำให้สามเณรขาดการคิดวิเคราะห์ ไม่ได้รับการพัฒนา จนอาจกลายเป็นปัญหาของสังคมได้

 

ถ้าสามเณรได้เรียนหนังสือ ก็มีความคิด และ ช่วยจรรโลงพระศาสนา ในอนาคตหากสามเณรเหล่านี้ลาสิกขา ก็จะส่งผลดีต่อสังคมของเรา แต่หากสามเณรไม่สึก ก็จะเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาของเราต่อไป

 

 

ส่วนที่ โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์ (วัดปทุมสราราม) อำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งมีการจัดตั้ง "ห้องเรียนประถมเตรียมมัธยม" เช่นกัน ที่นี่ มีสามเณรกว่า 40 รูป บางส่วนเคยเรียนในโรงเรียนจนถึงชั้น ป.4 ก่อนที่ครอบครัวจะให้บวชเป็นสามเณรจึงไม่ได้เรียนต่อ เมื่อได้กลับมาเรียนอีกครั้ง จึงทำให้หลายคนมีความหวัง และ ตั้งใจจะเรียนให้สูงถึงระดับปริญญาตรี เพราะทราบดีว่าการศึกษาสำคัญกับอนาคต

 

พระมหาอินสอน คุณวุฒโฑ ผอ.โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์ (วัดปทุมสราราม) เล่าว่าการตั้ง "ห้องเรียนประถมเตรียมมัธยม" ทำให้ทางโรงเรียนต้องจ้างครูเพิ่มอีก 3 คน รวมทั้งจัดภัตตาหารเพลแก่สามเณรทั้งหมด

 

นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการนำสามเณรเดินทางไปยังจังหวัดเชียงราย เพื่อสอบกลางเทอม และ ปลายเทอม ครั้งละหลายหมื่นบาท รายจ่ายที่ค่อนข้างสูง ทางโรงเรียนจึงต้องโอนย้าย สามเณรห้องเรียนประถมเตรียมมัธยม โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์ และ โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษารวมกว่า 80 รูป ไปสังกัด ศูนย์การเรียนรู้ไร่ส้มวิทยาในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

 

ล่าสุดคณะสงฆ์ จึงยื่นเรื่องต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 เพื่อขอเปิด ศูนย์การเรียนรู้ ดำเนินการโดยมูลนิธิโพธิยาลัย เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการศึกษาแก่เครือข่ายโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา 42 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และ แม่ฮ่องสอน ซึ่งคาดว่าจะมีสามเณรอีกหลายร้อยรูป ที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา

 

ถ้าเราสามารถตั้งศูนย์การเรียนรู้ได้ โรงเรียนพระปริยัติธรรมก็สามารถรับสามเณรเหล่านั้นเข้ามาเรียนได้ตามเงื่อนไขของหลักสูตร สามเณรก็จะได้มีที่เรียน หลังจากจบระดับประถมแล้วก็เรียนต่อระดับมัธยมในโรงเรียนพระปริยัติธรรมนั้นได้เลย สามเณรก็จะไม่ขาดโอกาสในการศึกษา

 

 

ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชน เชิญหน่วยงานการศึกษา ทั้งตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนา มาร่วมประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางพัฒนาหลักสูตร หรือ ชั้นเรียน ที่จะรองรับสามเณรกลุ่มนี้ หรือ เสนอให้สำนักพระพุทธศาสนา ขยายห้องเรียนประถมในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน

 

ปัญหาสามเณรไร้รัฐเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ก็ยังถูกนำเสนอแก่คณะทำงานนโยบายการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนเด็กนักเรียนกลุ่ม G และการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ พรรคก้าวไกล ซึ่งพบว่ากลุ่ม สามเณรที่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ถือเป็นกลุ่มชายขอบที่เผชิญปัญหาซ้ำซ้อน เพราะไม่มีที่เรียนชั้นประถมจึงไม่ได้รับรหัสG เพื่อพิสูจน์สถานะทางทะเบียน ซึ่งคณะทำงานพรรคก้าวไกล เตรียมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อหาแนวทางเร่งรัดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง