ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

13 ตุลาคม ของทุกปี "วันนวมินทรมหาราช"

ไลฟ์สไตล์
12 ต.ค. 66
13:15
49,512
Logo Thai PBS
13 ตุลาคม ของทุกปี "วันนวมินทรมหาราช"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

13 ตุลาคม "วันนวมินทรมหาราช" เป็นปีที่ 7 ของวันสวรรคตรัชกาลที่ 9 หรือเรียกว่า "สัตตมวรรษ" เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณา และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี ว่า "วันนวมินทรมหาราช" ซึ่งแปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่ 

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 หน่วยราชการในพระองค์ได้จัดเผยแพร่พระราชประวัติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ดังนี้

พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระปรมาภิไธย พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถ เนื่องในการพระราชพิธี บรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" ทรงเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เป็นพระโอรสพระองค์เล็กใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 ณ โรงพยาบาลเมานต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา

เสด็จขึ้นครอง สิริราชสมบัติต่อจาก สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ทรงดำรงสิริราชสมบัติ 70 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 สิริพระชนมายุ 88 พรรษา 10 เดือน 8 วัน

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

พ.ศ.2492 ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระธิดาใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทยใน พ.ศ.2493 แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ วังสระปทุม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็น "สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์"

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จผ่านพิภพในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ ว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร
รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร"

ในโอกาสนี้ พระราชทานพระปฐมบรมราชโองแก่ปวงชนชาวไทยว่า

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม 

และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ต่อมา พ.ศ.2499 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประชาชนชาวไทยใต้ร่มพระบารมีต่างมีความผาสุกร่มเย็น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรที่ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน

ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อก่อเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่ประเทศชาติและประชาชน ทรงอุทิศเวลาในการเสด็จพระราชดำเนินไป ยังท้องถิ่นทุรกันดารในภูมิภาคต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น 

พระราชกรณียกิจตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ครองราชย์ 

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

พระราชกรณียกิจ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาค้นคว้าเรื่อง "น้ำ" ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ การจัดการน้ำใต้ดิน การแก้ไขปัญหาอุทกภัย ซึ่งถือเป็นยุคทองของระบบการชลประทานไทย ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสียทั่วประเทศ ตัวอย่างโครงการพระราชดำริที่สำคัญ คือ โครงการฝนหลวง เป็นโครงการที่ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และฝนไม่ตกในพื้นที่เกษตรที่ต้องการ นอกจากนี้ โครงการแก้มลิง เป็นโครงการที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและเป็นที่พักน้ำก่อนจะระบายสู่ทะเล เป็นต้น 

พระราชกรณียกิจ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อการแก้ปัญหาดิน ทั้งดินปนทราย ดินเปรี้ยว ดินเค็ม และการพังทลายของดิน เพื่อให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ดีขึ้น ในปี พ.ศ.2547 สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) ได้มีมติเสนอให้วันที่ 5 ธันวาคม (วันพระบรมราชสมภพ) เป็นวันดินโลก เพื่อยกย่องการทรงงานเรื่องดิน สำหรับโครงการที่สำคัญ คือ โครงการแกล้งดิน ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส เป็นตัวอย่างของการประสบความสำเร็จในการแก้แก้ปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่พรุ ทำให้สามารถปลูกข้าวและเพาะปลูกพืชไร่ได้

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ทรงพระราชดำริว่า ป่าไม้เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของชาติ การทรงงานในเรื่องป่าไม้จึงผสานเป็นแนวทางเดียวกันกับการจัดการทรัพยากรน้ำและดิน พ.ศ.2504 ไทยเข้าสู่ยุคสมัยของการพัฒนา พื้นที่ป่าไม้แปรสภาพเป็นพื้นที่การเกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม จัดสรรเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย บางพื้นที่ถูกใช้เป็นแหล่งปลูกพืชเสพติด ส่งผลให้พื้นที่ป่าลดจำนวนลง จึงทรงพิจารณาศึกษาหาแนวทางช่วยเหลือ อาทิ "โครงการหลวง พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และพระราชทานคำแนะนำให้ชาวไทยภูเขาเปลี่ยนจากการปลูกฝิ่นมาปลูกพืชผักและดอกไม้เมืองหนาว เช่น ถั่วแดงหลวง มะเขือเทศ แอปเปิล สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 สาลี่ พลับ ลูกท้อ ชา และกาแฟอาราบิก้า เป็นต้น รวมทั้งพระราชทานพันธุ์สัตว์ เช่น ปลาและหมู สร้างสถานีวิจัยเกษตร และศูนย์พัฒนาพืช 

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

พระราชกรณียกิจ ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

ต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ช่วง พ.ศ.2496 การแพทย์และการสาธารณสุขของไทยยังไม่เจริญนัก เกิดโรคระบาด ได้แก่ โรคเรื้อน อหิวาตกโรค โรคโปลิโอ และโรคเท้าช้าง ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ทุนการศึกษาแก่แพทย์ที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงสร้างตึกโรงพยาบาล พัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ

ด้วยพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทำให้โรคระบาดที่เกิดในประเทศไทยในอดีตสงบลง และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในภูมิภาคนี้

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

พระราชกรณียกิจ ด้านการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโรงเรียน สำหรับเป็นสถานที่ศึกษาของพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรหลานข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป ได้แก่ โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนราชวินิต ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้นและ ทรงรับอุปถัมภ์โรงเรียนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์และในพระบรมราชูปถัมภ์ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนไทยครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ตั้งแต่ระดับประถม ถึงระดับปริญญาเอก ทุนพระราชทานเหล่านี้มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์และผู้โดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการสร้างอนาคตของชาติ

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

พระราชกรณียกิจ ด้านศาสนา

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพุทธมามกะที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างมั่นคง
ทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ.2499 และประทับศึกษาพระธรรมวินัย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน

ในฐานะองค์พุทธศาสนูปถัมภก ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาตามราชประเพณี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรประจำฤดูโดยสม่ำเสมอ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้าง พระพุทธนวราชบพิตรขึ้น สำหรับพระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด เพื่อประดิษฐาน ณ ศาลากลางจังหวัดต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้
หล่อพระพิมพ์พระสมเด็จจิตรลดา เพื่อพระราชทานเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหาร ตำรวจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อันตรายมีความเสี่ยงสูง

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

ภาพ : royaloffice

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านอื่น ๆ อาทิ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา, พระราชกรณียกิจด้านการคมนาคม, พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย, พระราชกรณียกิจด้านการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศ

สำหรับปีนี้ กิจกรรมในวันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม 

หน่วยงานราชการและภาคประชาชน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ดังนี้

สำนักพระราชวัง เปิดให้วางพวงมาลา และถวายราชสักการะ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อุทยานเฉลิมพระเกียรติ สนามม้านางเลิ้ง เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์จะวางพวงมาลา ลงทะเบียน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ อำนวยความสะดวกสถานที่ตั้งพวงมาลา

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้กำหนดจัดพิธีสวดพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา ถวายเป็นพระราชกุศล เวลา 16.30 น. ณ หอประชุมพุทธมณฑล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม รวมถึงวัดทุกวัดในราชอาณาจักร และวัดไทยในต่างประเทศ จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา ในวันเดียวกัน

ที่มา : https://royaloffice.th/  

อ่านข่าว

ราชกิจจาฯ ประกาศให้ 13 ต.ค.ของทุกปี เป็น "วันนวมินทรมหาราช"

ครม.เห็นชอบวันที่ 13 ต.ค.ของทุกปีเป็น “วันนวมินทรมหาราช”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง