จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้มีปัญหาสถานะบุคคล และ ภาคีองค์กรและเครือข่ายที่ทำงานด้านชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในระบบหลักประกันสุขภาพ และ ทางออกที่ควรจะเป็น พร้อมออกแถลงการณ์ข้อเสนอเชิงนโยบาย เนื้อหาสำคัญระบุว่า
แม้ประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ และ ประเทศไทยได้รับการยกย่องเป็นต้นแบบของประเทศกำลังพัฒนา
แต่ยังมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่กำลังรอพิสูจน์สัญชาติไทยและสถานะบุคคล ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 5 ( บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน และ มีประสิทธิภาพ ) เป็นการรับรองสิทธิของบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น
ภายหลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ตระหนักว่า หากบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพได้ จะเป็นเหตุทำให้ระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศเสียไป ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโรคติดต่อชนิดต่าง ๆ จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอจัดตั้ง "กองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ" เป็นการเฉพาะขึ้น แยกต่างหากจากกองทุนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ผ่านไป 9 ปี คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบให้มีการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ จำนวน 4.5 แสนคน โดยได้รับงบประมาณรายหัวเฉลี่ยที่ 2,067 บาทต่อคน ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติหลายครั้งเพิ่มเติมกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ปัจจุบันครอบคลุมจำนวนกว่า 6 แสนคน แม้จะทำให้กลุ่มผู้มีปัญหาสถานะบุคคล สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข และป้องกันการล้มละลายจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ แต่ก็พบข้อจำกัด คือ
(1) ความไม่ยั่งยืนของกองทุนคืนสิทธิฯ ซึ่งอาจถูกยกเลิกเมื่อใดก็ได้
(2) กลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิในกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในกรณีเกิดปัญหาความผิดพลาดจากการรักษาพยาบาล
(3) ชุดสิทธิประโยชน์ไม่สามารถพัฒนาให้เกิดความเท่าเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายมีจำนวนน้อย งบประมาณไม่เพียงพอในการพัฒนาสิทธิประโยชน์และจัดบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพ
(4) จำนวนผู้มีปัญหาสถานะบุคคลจะลดลงทุกปี ส่งผลทำให้กองทุนคืนสิทธิฯ อาจเกิดการล้มละลายในอนาคตขึ้นได้
เหตุผลและความจำเป็นที่เสนอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องพิจารณาและทบทวนการนิยามผู้ทรงสิทธิรับบริการสาธารณสุขในมาตรา 5 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ด้วยเหตุผล
1) กลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ เป็นคนไทยกลุ่มหนึ่ง เคยได้รับสิทธิบริการสาธารณสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาก่อน แต่ถูกปลดสิทธิออกจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นความเหลื่อมล้ำ สร้างความไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ ในมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
2) ผลดีที่เกิดจากการให้กลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ได้รับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีผลดีต่อระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ ได้แก่
2.1) สามารถลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เกิดขึ้นจริงได้
2.2) ระบบกองทุนเดียวโดยไม่แยกกองทุน (คืนสิทธิ) สามารถบริหารจัดการงบประมาณและการเบิกจ่ายงบประมาณได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยให้ลดต้นทุนการดำเนินงานและมีงบประมาณเหลือในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าได้
2.3) หน่วยบริการสามารถลดความกังวลและมีความมั่นใจในการให้บริการกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิว่า โรงพยาบาลจะไม่ขาดทุนหรือรับภาระหนี้สินจากการให้บริการ ไม่กังวลว่าจำนวนประชากรในกองทุนจะลดลงและล้มละลายแต่อย่างใด
3) เป็นการดำเนินการที่สอดรับกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีนายกรัฐมนตรี) ที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่ระบุในวรรคท้ายของนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทยว่า "รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะดูแลให้เกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วยสวัสดิการโดยรัฐ"
ด้วยเหตุนี้เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้มีปัญหาสถานะบุคคล และภาคีองค์กรและเครือข่ายที่ทำงานด้านชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย
ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทบทวนนิยามผู้ทรงสิทธิรับบริการสุขมาตรา 5 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ด้วยการให้บุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่กำลังรอการพิสูจน์หรือพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลหรือสัญชาติ หรือ คนที่เคยได้รับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาก่อน ได้แก่ บุคคลที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553 มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
เกรียงไกร ชีช่วง ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา พี่น้องจำนวนหลักแสนคนได้รับผลกระทบจากการตีความ หรือ การให้นิยามไม่ชัดเจน เมื่อไม่มีหลักประกันสุขภาพทำให้ชาวบ้านที่เจ็บป่วยรีรอที่จะไปโรงพยาบาล หรือ ต้องทนจนกว่าอาการหนักก่อน ซึ่งผลร้ายที่สุด คือ เสียชีวิต
เราคาดหวังว่า ทั้งหมดจะกลับมาอยู่ในระบบ และ มีการออกแบบให้กองทุนสามารถช่วยเหลือในมิติอื่นๆเพิ่มเติมได้ ปลายทางเมื่อกองทุนรองรับแล้ว กลุ่มชาวบ้านจะได้เป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ พัฒนาเมือง ที่สำคัญ คือ การเป็นหน้าด่านการดูแลสุขภาพของประชาชนที่มีการเคลื่อนย้ายจากชนบทเข้าสู่เมืองได้
วิวัฒน์ ตามี่ ผู้แทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าการปลดสิทธิกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะบุคคลออกจากระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ บัตรทอง สร้างความไม่เป็นธรรม สร้างความเดือดร้อนให้กับคนกลุ่มนี้มาหลายปี ถือเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่เคยได้รับสิทธิ์ในบัตรทองมาก่อน
เราอยากสื่อสารไปยัง สปสช.ให้มีความจริงจัง และ จริงใจ ในการทบทวนเรื่องนี้ เพราะคนเหล่านี้เป็นคนไทยกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในสังคมไทย เกิด และ อาศัย อยู่บนแผ่นดินนี้ ไม่ใช่คนไร้รัฐ หรือ แรงงานข้ามชาติ ตามที่หลายๆ คนเข้าใจ
ผู้แทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยระบุอีกว่า หากการยื่นให้ สปสช. และ คณะรัฐมนตรีทบทวนเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่มีความก้าวหน้า ในขั้นตอนต่อไปก็จะใช้ช่องทางในการฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้พิจารณาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่
แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1 เชียงใหม่ ระบุว่าเจตนารมณ์ ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือการดูแลสุขภาพของคนในประเทศไทยทุกคนอยู่แล้ว ประชาชนกลุ่มใดก็ตาม ก็ควรจะต้องมีการดูแลในแง่ของการทั้งดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค และ ให้การรักษาพยาบาลอยู่
จึงจะนำสิ่งที่เครือข่ายภาคประชาชนเสนอ ส่งต่อให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องของการตีความ ในมาตรา 5 พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่น่าจะต้องทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น เพื่อลดความเดือดร้อนให้กับประชาชนกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะ และ สิทธิ ต่อไป