วันนี้ (17 ต.ค.2566) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผล การวิเคราะห์ส่งออกไทยไตรมาส 4 ปี 2566 และคาดการณ์ ปี 2567 ว่าการส่งออกของไทยปีนี้ จะไม่ใช่พระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะด้วยปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไทย เช่น อัตราดอกเบี้ยประเทศคู่ค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง เช่น อังกฤษ สหรัฐ รัสเซีย ออสเตรเลีย ยุโรป เป็นต้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
นายธนวรรธน์ยังกล่าวถึง การชะลอตัวทางเศรษฐกิจว่ามีผลต่อการบริโภคการลงทุน ภาระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือน แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าต่างประเทศทำให้มีค่าเงินที่แนวโน้มอ่อนค่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจจีน ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง รวมไปถึงญี่ปุ่นและยุโรป
ขณะที่ราคาส่งออกไทยยังคงมีราคาสูงต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทยสูงกว่าหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงราคาน้ำมันทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าสูงขึ้น โดยประเมินว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 88-93 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ค่าจ้างและปัญหาเอลนิโญจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยที่อาจจะลดลงราว 2.2-6.5%
อย่างไรก็ตามการส่งออกไตรมาส 4 คาดว่าจะขยายตัว 6.8% มีมูลค่า 70,502 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนทั้งปี 2566 ยังติดลบ 2% มูลค่าประมาณ 281,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในขณะที่ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกไทยในไตรมาส 4 เช่น เงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าคู่แข่งสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และเวียดนาม รวมไปถึงประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐ เป็นต้น
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง อยู่ที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นผลดีต่อการส่งออก ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป เกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้น มีผลต่อการนำเข้าและโอกาสส่งออกของไทย รวมไปถึงนโยบายผลักดันการส่งออกในโค้งสุดท้ายของรัฐบาล เช่น รักษาตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ฟื้นฟูตลาดเก่า
สินค้าเด่นที่จะดันให้ส่งออกไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ขยายตัว คือ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มสินค้า แร่ เชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น ทุเรียน ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าวโพด ถั่ว ไข่ไก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผักกระป๋อง ผักแปรรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไม้แปรรูป เครื่องสำอาง เครื่องหอม สบู่ ท่อเหล็กและน้ำมันเบนซิน
ส่วนสินค้าเสี่ยงที่จะมีผลต่อการส่งออก เช่น กาแฟ สัตว์น้ำจำพวก ปู ตะพาบ อาหารทะเลกระป๋อง เช่น ทูน่า ปู กุ้งและปลาหมึก แป้งข้าวเหนียว ฮาร์ดดิสไดรฟ์ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เม็ดพลาสติก พวกสไตรีน ไวนิวคลอไรด์ เครื่องประดับอัญมณีเทียม น้ำมันก๊าซ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว เป็นต้น
คาดว่าการส่งออกปี 2567 ขยายตัว 3.6% มีมูลค่า 291,773 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยสนับสนุนคืออัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศชะลอตัวส่งผลต่อความต้องการสินค้าและนโยบายผลักดันการส่งออกของรัฐบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
หอการค้าไทย ชี้ 'สงครามอิสราเอล' ไม่กระทบการค้า
เอกชนลดเป้าส่งออกข้าวไทยปี 67 เหลือ 7.5 ล้านตัน
IMF เตือนสู้รบตะวันออกกลางยืดเยื้อทำต้นทุนราคาน้ำมันพุ่ง 10%