วันนี้ (20 ต.ค.2566) นายสมควร ต้นจาน ผอ.กองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ เรื่องการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย ว่า ปีนี้ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งปกติจะมีการประกาศช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้
แต่สำหรับปีนี้ ฤดูหนาวของไทยอาจเริ่มช่วงต้นเดือน พ.ย.และจะขยับสั้นลงเหลือช่วงปลายเดือน ม.ค.2567 จากเดิมที่มักจะสิ้นสุดฤดูหนาวช่วงปลายเดือน ก.พ.
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบนประมาณ 21-22 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 19.9 องศาเซลเซียส) และจะมีอากาศหนาวเย็นน้อยกว่าปีที่ผ่านมา (อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 20.8 องศาเซลเซียส)
สำหรับช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดจะอยู่ในช่วงประมาณต้นเดือน ธ.ค.2566 ถึงปลายเดือน ม.ค.2567 โดยอุณหภูมิต่ำที่สุดประมาณ 9-10 องศาเซลเซียส ส่วนมากจะอยู่ตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณเทือกเขา ยอดดอยและยอดภู จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้
เรียกว่าปีนี้ฤดูหนาวของไทยจะหนาวช้า อากาศไม่เย็นมาก แถมเจออากาศร้อนในช่วงฤดูฝนของ ก.ย.-ต.ค.ที่พบว่ามีอุณภูมิบางวันสูงกว่าค่าปกติไปแตะ 38-39 องศาฯ จากค่าปกติ 34-35 องศาฯ
สถิติอุณหภูมิต่่าที่สุด และการคาดหมายอากาศหนาว ในช่วงเดือนธ.ค.-ม.ค.67
เอลนีโญ-พายุแปซิฟิกลดเท่าตัว
เมื่อถามว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ฤดูหนาวช้าและอากาศไม่หนาวมาก นายสมควร กล่าวว่า ปัจจัยหลักมาจากเอลนีโญ ต่างกับปีก่อนที่เป็นลานีญา ประกอบกับมวลอากาศเย็นจากจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมไทยยังแผ่วมาก ถึงแม้จะมีบางพื้นที่ที่อุณหภูมิน้อยกว่า 23 องศาฯ แต่ยังไม่ต่ำจนเข้าเกณฑ์ที่ประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวได้
ปีนี้คาดการณ์ว่าอุณหภูมิในฤดูหนาว จะมีแนวโน้มสูง 0.5-1.5 องศาฯ คาดการณ์จากสถิติ ภาคเหนือและอีสานหนาวถึงหนาวจัดจะเป็นช่วงเวลาสั้นแค่ 1-3 วันเท่านั้น ส่วนพื้นที่ราบรวมทั้ง กทม.อาจจะแค่หนาว 15-18 องศาฯ
นายสมควร กล่าวอีกว่า ปีนี้สภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวนอย่างเห็นได้ชัด อย่างกรณีของพายุที่พัดเข้าไทยโดยตรง ซึ่งปกติอย่างน้อยในช่วง ส.ค.-ต.ค.อาจจะมีพายุผ่านมา 1 ลูก ตอนนี้ยังไม่มี ซึ่งยังรอไปถึงเดือน ธ.ค.ว่าจะมีพายุก่อตัวเข้าทางภาคใต้หรือไม่
สถิติพายุแปซิฟิก-ทะเลจีนใต้ เพิ่งเข้าลูกที่ 16 จากปกติเดือน ต.ค.จะมีพายุ 23-24 ลูก เรียกว่าหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจึงถือว่ามีหลายสัญญาณจากเอลนีโญที่ทำให้เกิดความผิดปกติกับสภาพอากาศ
สำหรับสถิติอุณหภูมิต่ำที่สุด และการคาดหมายในช่วงเดือน ธ.ค.2566 และ ม.ค.2567 มีดังนี้
- เชียงราย ธ.ค.อุณหภูมิต่ำสุด 10.3 องศาฯ ม.ค.อุณหภูมิต่ำสุด 10-12 องศาฯ
- แม่ฮ่องสอน ธ.ค.อุณหภูมิต่ำสุด 12.4 องศาฯ ม.ค.อุณหภูมิต่ำสุด 12-14 องศาฯ
- เชียงใหม่ ธ.ค.อุณหภูมิต่ำสุด 14.6 องศาฯ ม.ค.อุณหภูมิต่ำสุด 13-15 องศา
- พะเยา ธ.ค.อุณหภูมิต่ำสุด 10.8 องศาฯ ม.ค.อุณหภูมิต่ำสุด 10-12 องศา
- ลำพูน ธ.ค.อุณหภูมิต่ำสุด 12.2 องศาฯ ม.ค.อุณหภูมิต่ำสุด 12-14 องศาฯ