วันนี้ (21 ต.ค.) เวลา 08.00 น. กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานคุณภาพอากาศในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ "ดี" ถึง "เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ" ตรวจพบฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน โดยวัดค่าได้ระหว่าง 22.8 - 56.3 มคก./ลบ.ม.
โดยพื้นที่ ที่พบว่ามีปริมาณฝุ่น PM2.5 และ เริ่มมีผลต่อสุขภาพ 5 อันดับแรก
1 ริมถนนนราธิวาส เขตบางรัก กรุงเทพ 56.3 มคก./ลบ.ม.
2 ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม กรุงเทพ55.6 มคก./ลบ.ม.
3 ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ 53.4 มคก./ลบ.ม.
4 แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร และ ริมถนนซอยนิคมบ้านพัก รถไฟธนบุรี 5 เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ 52.7 มคก./ลบ.ม.
5 สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ 52.4 มคก./ลบ.ม.
5 อันดับคุณภาพอากาศดี ในกทม.
ส่วนพื้นที่ในกทม. ที่ยังพบว่า สภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์คุณภาพดี 5 อันดับ
1 แขวงพญาไท เขตพญาไท 22.8 มคก./ลบ.ม.
2 แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพ 23.2 มคก./ลบ.ม
3 แขวงหนอกจอง เขต หนองจอก 23.4 มคก./ลบ.ม.
4 เขตสะพานสูง กรุงเทพ 24.7 มคก./ลบ.ม.
5 สวนกีฬารามอินทรา เขตบางเขน 24.8 มคก./ลบ.ม.
สภาพอากาศรวมทั้งประเทศอยู่มีเกณฑ์ดี
ส่วนคุณภาพสภาพอากาศโดยรวม พบว่าอยู่มนเกณฑ์ปานกลาง - ดีมาก
ภาคเหนือ สภาพอากาศโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก 6.7- 20.7 มคก./ลม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศโดยรวมอยู่ใน เกณฑ์ปานกลาง 16.5- 31.9 มคก./ลบ.ม.
ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี 11.4 -28.1 มคก./ลบ.ม.
ภาคใต้ ภาพรวม อยู่ในเกณฑ์ดี มาก 5.9 - 13.4 มคก./ลบ.ม.
ห่วงเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศปิด
ด้านพญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนและจะเข้าฤดูหนาว มีแนวโน้มความกดอากาศที่สูงขึ้น อากาศไม่ถ่ายเท จะทำให้ฝุ่นละอองสะสมและเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ จากรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน สำหรับภาคอื่นๆ ภาพรวมยังไม่เกินค่ามาตรฐาน และจากการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จะอยู่ในระดับสีส้มอีก 1-2 วัน เนื่องจากสภาพอากาศนิ่ง จากข้อมูลเฝ้าระวังการรับสัมผัสฝุ่น PM2.5 เชิงรุกผ่านทางเว็บไซต์ 4Health ในต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝุ่น ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2566 พบว่า ร้อยละ 77 ประชาชนมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัส PM2.5 พบมากสุด คือ ระบบทางเดินหายใจร้อยละ 35 รองลงมา ระบบตาร้อยละ 32 , ระบบหู คอ จมูก ร้อยละ 19 ,ระบบผิวหนังร้อยละ 9 และระบบหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 5
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ กำชับทุกหน่วยงานเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5
ปรับแจ้งเตือนสุขภาพตามค่าฝุ่น ย้ำปฏิบัติตามระดับสี
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศ เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมถึงปรับระดับการแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ ระดับสีของฝุ่น PM2.5 ดังนี้ 1) สีฟ้า ระดับดีมาก (0 – 15 มคก./ลบ.ม) และ 2) สีเขียว ระดับดี (15.1 – 25 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ
3) สีเหลือง ระดับปานกลาง (25.1 – 37.5 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง ลดระยเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง และผู้มีโรคประจำตัวควรเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
4) สีส้ม ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (37.6 – 75 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไป ควรลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงควรลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัว
5) สีแดง ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) ประชาชนทุกคน งดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง อยู่ในห้องปลอดฝุ่น สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์