กลับคืนบ้านเกิดแล้ว ร่างแรงงานไทย 8 ศพจากสงครามอิสราเอล แม้กระทรวงแรงงานยืนยันว่า จะส่งเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดเข้าแจ้งสิทธิประโยชน์ครอบครัวของแรงงานและอำนวยความสะดวกทุกขั้นตอน แต่ยังมีค่าสินไหมทดแทน ในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บ และการจัดการมรดกในกรณีที่เสียชีวิต
นายณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคชจ.) สำนักงานอัย การสูงสุด(อสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา อสส.มีหนังสือเวียน ให้อัยการ สคชจ. ลงพื้นที่ ช่วยเหลือครอบครัวเเรงงานไทยในอิสราเอล และความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นแล้ว โดยเรื่องการจัดการศพ เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน และกระทรวงต่างประเทศที่ต้องนำศพกลับมาด้วยกระบวนการหรือวิธีการทูต
ส่วนการจัดการมรดก อัยการจะเป็นผู้ลงพื้นที่ให้คำปรึกษากับครอบครัวแรงงาน และจัดการมรดกให้ถึงที่
หากผู้ใดต้องการความช่วยเหลือก็สามารถแจ้งเรื่องไว้ได้ เช่น มีการทำประกันภัยไว้หรือไม่ ทั้งในส่วนที่แรงงานทำประกันไว้เอง หรือนายจ้างทำประกันไว้ให้ รวมถึงสิทธิที่จะได้รับเงินจากกองทุนของกระทรวงแรงงาน
และสุดท้ายคือ เรื่องการจัดการมรดก กรณีได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในญาติของผู้ตายตลอดชีพนั้น เป็นเรื่องที่นายจ้างตกลงกับทางญาติเอง กรณีที่หากครอบครัวแรงงานสามารถตั้งผู้จัดการมรดกได้ จะสามารถเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ ผ่านผู้จัดการมรดกได้ ซึ่งผู้ที่จะติดตามการดำเนินการเหล่านี้คือ กระทรวงแรงงานหรือกงสุล เพื่อตรวจสอบว่าเรามีบัญชีอยู่ที่นายจ้างหรืออยู่ที่ต่างประเทศหรือไม่
อ่านข่าว ถึงบ้านแล้วนะลูก! พ่อบอกลาลูกชายคนเล็กเสียชีวิตอิสราเอล
บรรยากาศงานศพแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสงครามอิสราเอล
เหตุสาบสูญในสงครามกฎหมายมีอายุความ 2 ปี
นายณรงค์ บอกว่า สคชจ. มีบริการจัดตั้งผู้จัดการมรดกให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากเตรียมเอกสารครบถ้วน ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศาลเอง อัยการจะเป็นผู้ดำเนินการให้ถึงบ้าน หรือลงระบบออนไลน์ให้ เหมือนกรณีเหตุกราดยิงที่เทอร์มินอล 21 โคราช ที่มีผู้เสียชีวิต 20 กว่าศพ
ทั้งนี้ อัยการจะใช้วิธีไต่สวนทางออนไลน์ทั้งหมด โดยจัดการระบบและนำคำพิพากษาคำสั่งไปให้ รวมทั้งช่วยประสาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามเรื่องทรัพย์สินทั้งในและต่างประเทศ
ในกรณีที่ลูกหลานของครอบครัวไหน เป็นผู้หายสาบสูญในเหตุสงครามหรือภัยพิบัติ กฎหมายมีอายุความ 2 ปี โดยหลังจาก 2 ปี ถ้ายังไม่สามารถติดต่อได้ ญาติสามารถร้องขอเป็นผู้สาบสูญได้ เสมือนเป็นผู้เสียชีวิตตามคำสั่งศาล และให้นำคำสั่งศาลนั้น มาจัดการมรดกต่อไปได้
หรือในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อญาติได้หลังจาก 1 ปี ไม่รู้ว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่อย่างไร แล้วมีเหตุจำเป็นต้องจัดการทรัพย์สิน แต่ยังไม่ครบตามกฎหมายที่ต้องหายสาบสูญเกิน 2 ปี สามารถไปพบอัยการเพื่อขอให้อัยการตั้งผู้จัดการทรัพย์ชั่วคราวไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 48
ยังมีปัญหาเรื่องการจัดการสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ.ค่าทดแทนผู้เสียหายในคดีอาญา จากการตรวจสอบกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พบว่าไม่ครอบคลุมต่างประเทศ แรงงานจะได้รับเฉพาะเงินของกระทรวงแรงงานกับเงินที่ทางอิสราเอลจะจ่ายให้
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือกับกระทรวงแรงงาน โดยส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่นายจ้างดูแล และรับผิดชอบลูกจ้างเป็นรายคนไป ส่วนที่มีการระบุว่าจะมีการดูแลญาติของผู้ตายตลอดชีพ เป็นเรื่องที่นายจ้างตกลงกับทางญาติเอง
กลุ่มคนไทยที่ทยอยเดินทางกลับหนีภัยสงครามในอิสราเอล
ตั้ง ผจก.มรดก ไม่เสียค่าใช้จ่าย อัยการช่วยฟรี
นายณรงค์ ย้ำว่า สำหรับ สคชจ. มีบริการจัดตั้งผู้จัดการมรดกให้ครอบครัวของแรงงานที่สูญเสียโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้ว ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศาลเอง แต่อัยการจะเป็นผู้ดำเนินการให้ถึงบ้าน หรือลงระบบออนไลน์อยู่ ตรงนี้เป็นการตอบคำถามว่า เสียชีวิตที่อิสราเอล แต่มีบัญชีเงินฝาก มีที่ดิน ทรัพย์สินอยู่ที่เมืองไทยจะทำอย่างไร ทางบ้านจะเอามาต่อชีวิตได้ มรณบัตรก็ยังออกที่เมืองไทยไม่ได้
ส่วนการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่น กรณีเป็นหนี้ อัยการยินดีช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทขอขยายเวลาชำระหนี้ได้ เสียชีวิตหรือสูญหายในต่างประเทศ ก็จะช่วยติดต่อประสาน งานระหว่างประเทศเพื่อนำเอกสารหลักฐานมาดำเนินการต่อในประเทศไทย
หรือหากขาดเสาหลักของครอบครัว อัยการจะช่วยต่อศาลแรงงานจังหวัดให้คนที่อยู่เมืองไทยได้หางานทำชดเชยรายได้จากอิสราเอล ขัดสนจนไร้ที่อยู่ที่กินก็พร้อมประสานหน่วยงานพัฒนาความมั่นคงและสังคมให้เข้าช่วยเหลือ ครอบครัวแรงงานไทยในอิสราเอลจะได้มีชีวิตที่เดินต่อไปได้ไม่ติดขัดติด
อ่านข่าว "ฮามาส" คุย "กาตาร์-อียิปต์" ส่งสัญญาณปล่อยตัวประกันเพิ่ม
สงครามจบหนี้ไม่จบ
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ของ สคจช.ในหลายจังหวัดพบว่า แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานอิสราเอล ยังมีปัญหาการกู้ยืมเงินทั้งนอกระบบและในระบบเพื่อไปทำงานอิสราเอล บางรายใช้หนี้หมดแล้ว แต่บางรายที่ใช้หนี้ยังไม่หมด และยังคงเป็นหนี้อยู่ ปัจจุบันตอนนี้ต้องหยุดงาน จึงเกรงปัญหาถูกเจ้าหนี้ที่เมืองไทยทวงหนี้
ส่วนใหญ่แรงงานจะส่งเงินกลับมาให้ครอบครัว เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ทั้งผ่อนไร่ ผ่อนนา ผ่อนบ้าน จึงกลัวถูกยึดหรือถูกบังคับใช้หนี้ หรือไม่เพราะไม่มีเงินผ่อนแล้ว กลุ่มแรงงานที่เป็นเสาหลักของครอบครัวขาดรายได้ เพราะต้องเดินทางกลับมา
ปัญหาดังกล่าวสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ หมายเลข 1157 หรือเข้าไปพบอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิฯ ทั่วประเทศ หากไม่มีผู้จัดการมรดกให้ อัยการก็พร้อมช่วยเหลือฟรีทุกอย่าง
อ่านข่าว
สัญญาณบวก "ศ.จรัญ มะลูลีม" วิเคราะห์ทิศทางปล่อยตัวประกัน
ไม่ต้องบินอ้อม "ซาอุฯ" ไฟเขียวบินผ่านน่านฟ้ารับคนไทยจากอิสราเอล