สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า หลังจากเมื่อคืนวันที่ 21 ต.ค. ถึงรุ่งเช้าวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ร่องรอยของดาวหางฮัลเลย์ เมื่อครั้งเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ โดยจะเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.30 น.ของวันที่ 21 ต.ค.บริเวณกลุ่มดาวนายพราน (Orion) อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวง/ชั่วโมง หากฟ้าใสไร้ฝน
ล่าสุดสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความลงในทวิต X ระบุข้อความว่า “ฝนดาวตก” คือคืนที่มีดาวตกมากกว่าปกติ เกิดจากโลกโคจรตัดผ่านสายธารของฝุ่นดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย
ส่วน “ดาวหาง” จะปรากฏอยู่บนท้องฟ้าหลายวัน เนื่องจากจะค่อยๆ เปลี่ยนตำแหน่ง เพราะฉะนั้นเราจะไม่เห็น “ดาวหางฮัลเลย์” ในวันนี้ แต่จะเป็น “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” ที่เกิดจากดาวหางฮัลเลย์
ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ (Orionids) มีอัตราการตกเพียง 20 ดวง/ชั่วโมง ประกอบกับมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ อาจทำให้คืนนี้ไม่สามารถสังเกตได้ แต่หากใครอยากลุ้น ให้มองหา “กลุ่มดาวนายพราน” (Orion) ทางทิศตะวันออก สังเกตได้ง่ายจากดาวเรียงเด่นสามดวงที่คนไทยเรียกว่า ดาวไถ
อีก 38 ปีเจอกันรอบใหม่ "ดาวหางฮัลเลย์"
ทั้งนี้ ดาวหางฮัลเลย์ จะโคจรเฉียดดวงอาทิตย์อีกครั้งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2604 หมายความว่าเราจะได้เห็นดาวหางฮัลเลย์ในอีก 38 ปีข้างหน้า คืนนี้จะมีเพียง ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ซึ่งเกิดจากโลกโคจรตัดเข้าไปในสายธารฝุ่นที่ดาวหางฮัลเลย์เหลือทิ้งไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 เมื่อครั้งโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์
สำหรับใครที่พลาดชมฝนดาวตกโอไรออนิดส์ คืนนี้ ขอแนะนำรอชม ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14-15 ธ.ค.นี้ ด้วยอัตราการตกสูงสุดมากถึง 120-150 ดวง/ชั่วโมง และเป็นช่วงฤดูหนาวที่ฟ้าใสไม่ต้องลุ้นฝน
#ดาวหางฮัลเลย์ จะโคจรเฉียดดวงอาทิตย์อีกครั้งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2604 หมายความว่าเราจะได้เห็นดาวหางฮัลเลย์ในอีก 38 ปีข้างหน้า คืนนี้จะมีเพียง #ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ซึ่งเกิดจากโลกโคจรตัดเข้าไปในสายธารฝุ่นที่ดาวหางฮัลเลย์เหลือทิ้งไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เมื่อครั้งโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ https://t.co/HTvJKN4MbD
— NARIT (@NARIT_Thailand) October 21, 2023