สงครามอิสราเอล-ฮามาส ดำเนินมากว่า 2 สัปดาห์ คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วว่า 6,000 คน หลายฝ่ายประเมินกันว่าท่าทีของสงครามครั้งนี้ไม่มีทีท่าจะยุติในเร็ววัน เมื่อเบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอลประกาศกร้าว "ถอนรากถอนโคน" ฮามาส แต่ก็ใช่ว่า กลุ่มฮามาสเองจะประหวั่นพรั่นพรึง ทั้งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศอาหรับ อิหร่าน ซีเรีย และการประกาศร่วมรบกับอิสราเอลของ "กลุ่มฮิซบอลเลาะห์" ที่มีเป้าหมายหลักอันดับหนึ่งคือ "ทำลายล้างอิสราเอล"
สงครามปาเลสไตน์ 1948
หลังจากที่อังกฤษและประเทศสัมพันธมิตรชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 พวกเขาขีดพื้นที่แบ่งแยกดินแดนเป็นประเทศต่างๆ สลายมหาจักรวรรดิออตโตมัน รวมถึงให้ชาวยิวกลับเข้าสู่พื้นที่ปาเลสไตน์ในขณะนั้น สิ่งที่ตามมาคือ ความขัดข้องใจของคนที่อยู่ในพื้นที่เดิม ที่จู่ๆ ต้องมีคนอื่นเข้ามาแชร์พื้นที่ร่วมกับตน จึงเกิดความขัดแย้งเรื่อยยาวกันมาของคนในพื้นที่
อ่าน : ปูมหลังปมขัดแย้ง "อิสราเอล-ปาเลสไตน์"
เรื่อยยาวจนจบสงครามโลกครั้งที่ 2 สหประชาชาติแบ่งพื้นที่ปาเลสไตน์เป็น 2 ส่วน ชาวอาหรับปาเลสไตน์และกลุ่มสมาชิกสันนิบาตอาหรับไม่พอใจ และยื่นคำร้องปฏิเสธไม่ยอมรับข้อบังคับของ UN ในวันที่ 13 พ.ค.1948 หนึ่งวันก่อนการประกาศเอกราชรัฐอิสราเอล และไม่กี่วันต่อมา 4 ใน 7 ประเทศสันนิบาตอาหรับ อันได้แก่ อียิปต์ อิรัก จอร์แดน ซีเรีย บุกเข้าทำสงครามกับอิสราเอล
และบังคับชาวอาหรับปาเลสไตน์จำนวน 700,000 คน อพยพหนีสงครามไปอยู่ในจอร์แดน
รบกันอย่างไม่มีใครยอมใคร แต่ทุกฝ่ายก็ได้รู้ถึงพละกำลังของอิสราเอล ที่แม้ต้องทำสงครามอย่างโดดเดี่ยว แต่ก็สามารถต้านทานกองกำลังจากหลายฝ่ายไว้ได้ จนปี 1949 อิสราเอล ลงนามข้อตกลงสงบศึกกับอียิปต์ เลบานอน ซีเรีย และ จอร์แดน เป็นอันสิ้นสุดสงครามปาเลสไตน์ 1948 อิสราเอลได้พื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 77 ของดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมด และแน่นอนพวกเขาออกกฎหมายทำให้พื้นที่ทุกตารางวาเป็นสิทธิโดยชอบธรรม
ส่วนชาวปาเลสไตน์ 700,000 คนในจอร์แดน กลับมีสถานะเป็น "ผู้ลี้ภัย"
สงครามเลบานอนครั้งที่ 1
นานวันเข้ากลุ่มผู้ลี้ภัยเริ่มมีแนวความคิดที่จะทวงคืนพื้นที่บ้านเกิดตัวเองกลับคืนมา ในปี 1964 จึงก่อตั้ง "องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือ Palestine Liberation Organization : PLO" พร้อมผู้นำที่ชื่อ "ยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) เน้นการสู้รบแบบกองโจร เข้ามาสร้างความวุ่นวายในเขตประเทศอิสราเอลนานหลายปี
อดีตผู้นำกลุ่ม PLO ยัสเซอร์ อาราฟัต
จนอิสราเอลต้องออกคำเตือนไปยังจอร์แดนว่า กำลังให้ความสนับสนุนกลุ่ม PLO ซึ่งขัดต่อสัญญาสงบศึกที่ตกลงกันไว้ จอร์แดนจึงขับไล่กลุ่ม PLO และชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ออกไป ชาวปาเลสไตน์ต้องย้ายไปกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน โดยความช่วยเหลือจากชาวมุสลิมในเลบานอน และคัดค้านเสียงต่อต้านของชาวเลบานอนที่นับถือศาสนาคริสต์
จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองเลบานอนระหว่างชาวเลบานอนที่นับถือศาสนาอิสลาม และ ศาสนาคริสต์ อิสราเอลเข้ามาให้ความร่วมมือกับคริสเตียนเลบานอน ส่วนซีเรียสนับสนุนมุสลิมเลบานอน
สหประชาชาติเข้ามาไกล่เกลี่ย เป็นตัวกลางขอให้ยุติสงครามกลางเมือง
สงครามกลางเมืองในเลบานอนปี 1982
แต่สงครามยุติได้ในปี 1983 เพราะมีมือมืดระเบิดฆ่าตัวตาย สร้างความสูญเสียต่อเจ้าหน้าที่ทหารทั้งของสหรัฐฯ ฝรั่งเศสร่วม 300 คน เหตุการณ์นั้นทำให้ทุกฝ่ายต่างถอยและถอนทหารออกมา
อิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์
การทำสงครามขับไล่ชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่เลบานอนนั้น ดูไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับอิสราเอล และต้องไม่ลืมอีกหน้าที่หนึ่งคือการสร้างประเทศของตัวเองด้วย หลังจากสถาปนาเอกราชในปี 1948 ก็เท่ากับว่าอิสราเอลเองยังเป็นประเทศใหม่อยู่ อิสราเอลจึงย้ายฐานรบจากกรุงเบรุต มายังพื้นที่ทางใต้ของเลบานอน (ซึ่งติดกับทางเหนือของอิสราเอล) และยึดเอาพื้นที่ 15 กม.จากชายแดนไว้เป็นฐานทัพ
แต่ทุกที่ย่อมมีคนอยู่
ที่นั่นมีชาวมุสลิมนิกายชีอะห์อาศัยอยู่ และแน่นอนว่า ไม่มีใครยอมรับกับการถูกรุกล้ำพื้นที่โดยคนพื้นที่อื่น ชาวเลบานอนที่อยู่ที่นั่นจึงลุกขึ้นต่อต้านกองทัพอิสราเอล โดยการรวมกลุ่มกันชื่อว่า "ฮิซบอลเลาะห์ หรือ กลุ่มของพระเจ้า"
กองกำลังฮิซบอลเลาะห์
ฮิซบอลเลาะห์-ทำลายล้างอิสราเอล
คือกองกำลังปกครองตนเองที่ได้รับการฝึกและสนับสนุนอาวุธจากอิหร่านและซีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองโดยชาวมุสลิม นิกายชีอะห์ เช่นเดียวกัน ฮิซบอลเลาะห์เริ่มก่อตั้งในปี 1982 จากเหตุที่อิสราเอลบุกรุกเลบานอน โดยมีจุดประสงค์เพื่อขับไล่กองกำลังป้องกันอิสราเอลที่ยึดครองเลบานอน จนสามารถต่อสู้และขับไล่ทัพอิสราเอลออกจากเลบานอนได้ในปี 2000 ซึ่งถือเป็นผลงานสร้างชื่อให้ทั่วโลกรู้จัก "ฮิซบอลเลาะห์" อย่างเป็นทางการ
แม้ว่าอิสราเอลจะยอมถอนกำลังทหาร แต่ฮิซบอลเลาะห์ก็ประกาศชัดว่าจะไม่ยอมวางอาวุธต่อหน้าอิสราเอล "ทำลายล้างอิสราเอล" คือประกาศิตสำคัญ
การขับไล่กองทัพอิสราเอลไปได้ ทำให้เลบานอนให้ความยกย่อง กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ขึ้นมาทันที และทำให้ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้รับการสนับสนุนจากชาวมุสลิมในเลบานอน
ความแข็งแกร่งและบารมี
แม้จะวางตัวเป็น Non-state actor หรือ กลุ่มติดอาวุธไร้รัฐ แต่ ฮิซบอลเลาะห์ ยังขยายขีดความสามารถไปทุกมิติ สร้างอำนาจการต่อรองทุกด้าน ปัจจุบันมีเก้าอี้ในรัฐสภาเลบานอน 23 ที่นั่ง จากทั้งหมด 128 ที่นั่ง ฮิซบอลเลาะห์มีนโยบายสาธารณะหลักๆ คือการสร้างโรงพยาบาล สร้างสถานศึกษา และให้บริการด้านสังคมอื่นๆ
ปัจจุบันนี้กองทัพของฮิซบอลเลาะห์มีศักยภาพเหนือกว่ากองทัพของประเทศเลบานอน
สหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ระบุว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินและการเมือง รวมทั้งด้านอาวุธและการฝึกฝนจากอิหร่านและซีเรีย ซึ่งทางซีเรียเองก็ยอมรับว่าให้การสนับสนุนฮิซบอลเลาะห์จริง แต่ปฏิเสธเรื่องการส่งอาวุธให้
(ซ้าย) อดีต รมว.ต่างประเทศอิหร่าน และ (ขวา) เลขาธิการใหญ่พรรคฮิซบอลเลาะห์ ปี 2015
ใครที่จะตัดสินใจผิดพลาดที่สุดในชีวิต
13 ต.ค. ที่ผ่านมา ฮิซบอลเลาะห์ ประกาศยืนหยัดสู้เคียงข้างกับกลุ่มฮามาส CNN ระบุว่า ยังไม่รู้เหตุผลที่ชัดเจนที่ฮิซบอลเลาะห์เข้าแทรกแซงสงครามอิสราเอล-ฮามาส
ยังไม่รู้ว่า ฮิซบอลเลาะห์ จะรบในนามชาวปาเลสไตน์หรือไม่ แต่สิ่งที่เหมือนกับ ฮามาส คือการทำลายรัฐยิว
ฉากทัศน์สงคราม ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกาซา อาจเป็นภาพที่อิสราเอลใช้เตือนฮิซบอลเลาะห์ ว่าการโจมตีด้วยกองทัพที่ทรงอานุภาพของอิสราเอล และการหนุนหลังของสหรัฐฯ และชาติยุโรป สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมากเพียงใด
ขณะเดียวกัน อิสราเอลก็ต้องมองเกมให้ขาด หากฮิซบอลเลาะห์ตัดสินใจร่วมรบจริง นั่นหมายถึงอิสราเอลต้องรับศึกหนักทั้ง 2 ด้าน ใต้ที่รบกับฮามาส และเหนือที่ต้องรบกับฮิซบอลเลาะห์ ที่มีทั้งซีเรีย และ กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม ซึ่งเป็นกองกำลังชั้นยอดของอิหร่าน หนุนหลังอยู่ เท่ากับเปิดความขัดแย้งที่ไม่ใช่แค่ระหว่างประเทศ แต่ผลักให้ตะวันออกกลางเข้าสู่สมรภูมิสงคราม กับความสูญเสียที่ยากจะคาดเดา
ความสูญเสียที่มิอาจประเมินได้