เยาวชนที่เป็นเด็กพิเศษ ต้องช่วยขายนมเปรี้ยวกลางสี่แยกในช่วงวันหยุด ซึ่งแต่ละวันต้องขายนมเปรี้ยวให้ได้ 10 ถุง เพื่อแลกกับเงิน 200 บาท ขณะที่เด็กอีกกลุ่มยอมรับว่า บางวันขายได้น้อย เพราะไม่ได้แต่งกายด้วยชุดนักเรียน ทำให้ขายผ่านไป 3 ชั่วโมงได้เงินเพียง 40 บาท
เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2566 ทีมข่าวไทยพีบีเอสพูดคุยกับ 1 ในเยาวชนที่ขายนมเปรี้ยวกลางสี่แยก เขาบอกว่า ต้องเลิกขายเร็วกว่าปกติ เพราะต้องรีบเข้าทำงานประจำ นี่คือข้อมูลที่ทำให้รู้ว่า เด็กๆ กลุ่มนี้ บางคนพยายามหารายได้ด้วยการทำงานมากกว่า 1 อย่าง เพื่อนำเงินไปเรียนหนังสือ แม้จะรู้ว่า สายตาของผู้คนที่มองเขา เต็มไปด้วยคำถามถึงเหตุผลการมาขายของตามแยกไฟแดง รวมถึงหลายคำถาม ที่ห่วงใยเรื่องความปลอดภัย
ตัวแทนขายนมเปรี้ยวรายย่อย ให้ข้อมูลว่าการขายนมเปรี้ยวตามสี่แยก ไม่ใช่นโยบายของบริษัท แต่เป็นตัวแทนที่รับมา และกระจายให้เด็กขาย โดยได้จำกัดอายุคนขายต้องเกิน 15 ปีขึ้นไป และต้องดูแลความปลอดภัยให้กับเด็กด้วย
ปัญหาการขายของสินค้าบริเวณสี่แยกไฟแดงเรื้อรังมานานหลายสิบปี มีกลุ่มเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้พยายามขับเคลื่อนและหาทางออก
ปัญหาขายของกลางสี่แยก
ด้านนางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่าที่ผ่านมา ภาครัฐจะพยายามช่วยเหลือให้เด็กเหล่านี้หลุดจากวงโคจรการขายสินค้าบนท้องถนน ที่เสี่ยงอันตรายและยังผิดกฎหมายจราจร
สำหรับผู้ปกครองจะผิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก ส่วนนายจ้างผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่ห้ามใช้แรงงานเด็กต่ำกว่า 15 ปีทำงาน แต่สำหรับหลายครอบครัว เหตุผลของพวกเขาไม่ซับซ้อน ขอเพียงมีงานที่หารายได้จุนเจือครอบครัวได้ แม้จะเสี่ยงอันตราย แต่ก็มองว่า นี่คือเรื่องจำเป็น
ล่าสุด ได้เชิญตัวแทนภาคธุรกิจเข้ามาพูดคุยเพื่อไม่สนับสนุนให้เด็กขายสินค้าบริเวณสี่แยกไฟแดง และเข้าช่วยเหลือให้เงินจากกองทุนคุ้มครองเด็ก ตามสภาพปัญหา เงินสงเคราะห์ ไม่เกิน 3,000 บาท เงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวอุปถัมภ์เดือนละ 2,000 บาท จนอายุครบ 18 ปี รวมทั้งจัดอบรมขายสินค้าผ่านออนไลน์ และในระยะยาวจะเสนอปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก
อ่านข่าวอื่น :
หมอกควันพิษปกคลุม "อินเดีย" งัดแผนระยะ 2 รับมืออากาศเลวร้าย