วันนี้ (25 ต.ค. 2566)ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการประชุมฯ ว่า สาระสำคัญของเนื้อหา ยกระดับ 30 บาท มุ่งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษา ฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะมีการ ขับเคลื่อน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ,มะเร็งครบวงจร, สถานชีวาภิบาล การบริการเขตเมือง กทม. และบริการสุขภาพจิต และยาเสพติด
บัตรประชาชนใบเดียว เชื่อมข้อมูลรักษา
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาระบบบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ จะเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการทุกระดับ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบข้อมูล เชื่อมต่อกัน ทั้ง รพ.รัฐ ร้านยา เอกชน ,พัฒนาการตรวจสอบสิทธิ์ระบบยืนยันตัวตน ,การพัฒนาระบบการทำงานใบรับรองแพทย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ สมุดสุขภาพประชาชน ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล และ พัฒนาระบบเชื่อมต่อประชาชน ทางไลน์แอปพลิเคชัน ซึ่งโครงการนี้จะนำร่องใน 4 จังหวัดทั้งเหนือ กลาง อีสาน และใต้ ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส โดยการใช้บริการ ครอบคลุม พ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม สังกัดกระทรวงอุดมศึกษา และเอกชน คลินิก ร้านขายยาที่เข้าร่วม
บุคลากรเกษียณช่วยตอบสายด่วน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เมื่อ 20 ปีก่อน มีโทรด่วน 1330 มาให้บริการทั้งใช้ในยามวิกฤตและไม่วิกฤต ช่วยให้งานบริการลื่นไหล ในอนาคตจะนำพยาบาลเกษียณมาก ตอบคำถามในระบบ หรือต้องการตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยในการใช้บัตรประชาชนใบเดียว
รักษามะเร็งครบวงจร
ส่วนการรักษามะเร็งครบวงจร นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดสธ. กล่าวว่า สถานการณ์มะเร็งเพิ่มสูงขึ้น มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 140,000 คนต่อปี มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง 84,000 คนต่อปี ในแต่ละปีผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 2,000 คน การคัดกรอง จะช่วยป้องกันจะลดโรค ดังนั้น การเพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งในประชากรกลุ่มเสี่ยง เพิ่มการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมกันนี้ยังจะคิกออฟฉีดวัคซีนเอชพีวีในหญิง 11-20 ปีฟรี จำนวน 1 ล้านโดส
รพ. ทหารอากาศ (สีกัน)ดูแลกทม.โซนเหนือ
นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดสธ. กล่าวว่า นโยบายรพ.กทม.50 เขต 50 รพ. ในพื้นที่กทม. ได้มีการยกระดับ รพ.ทหารอากาศ (สีกัน ) มารองรับประชาชนในพื้นที่เขต ดอนเมือง เนื่องจากอัตราเตียงรองรับในพื้นที่โซนเหนือของกทม. มีน้อย 0.77 เตียงต่อพันประชากร โดยจากเดิมมีขนาด 50 เตียง เป็น 130 เตียง (รพ. ทุติยภูมิ) และยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทางร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย และให้ โรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วย คาดว่าจะเปิดให้บริการทั้ง 3 ส่วนได้ภายในเดือนธันวาคม นี้
เพิ่มเครือข่ายดูแลผู้ป่วยจิตเวช
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงนั้นพบว่า ผู้ป่วยจิตเวช 166,563 คน เสี่ยงก่อความรุนแรงประมาณ 25.4% หรือ 42,287 คน และก่อความรุนแรง 9.1% หรือ 15,066 คน ส่วนผู้ป่วยยาเสพติด 129,081 คน เสี่ยงก่อความรุนแรง 50.5% หรือ 65,206 คน และก่อความรุนแรง 23.5% หรือ 30,372 คน เพื่อให้มีการบริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยจะจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” ทุกจังหวัดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาฟื้นฟูผุ้ป่วยยาเสพติด
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รักษาราชการแทนรองปลัดสธ กล่าวว่า จะมีการจัดตั้ง สถานชีวาภิบาล ใน 12 เขตสุขภาพ และในทุกรพ. รวมถึง ชุมชน พร้อมนำ ใช้ระบบเทเลเมดซีน มาร่วมดูแล ซึ่งในพื้นที่กทม. ตั้งเป้าเกิดสถานชีวาภิบาล 7 เขต
30 บาทพลัสไม่ต่างจากเดิม
ทั้งนี้แหล่งข่าวสปสช. ระบุ การเปลี่ยนผ่านจาก 30 บาทรักษาทุกโรค และ 30 บาทพลัส ไม่แตกต่าง เพียงแต่เพิ่มระบบบริการ การนำบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เคยมีการนำร่องทดลองแล้วใน เขตบริการสุขภาพที่ 9 ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีปัญหางบประมาณบานปลาย การรักษาพยาบาลเป็นการรักษาภายในเขต และมีการเชื่อมต่อข้อมูลกัน