เมื่อลมหนาวกลับมาเยือนจังหวัดในภาคเหนือของไทย จ.แม่ฮ่องสอน ก็เป็นหนึ่งในหมุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปเที่ยวสัมผัสธรรมชาติและรับลมหนาว กับสมญานามว่า "เมืองสามหมอก" ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพอากาศจึงมีหมอกปกคลุมอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม และมีประชากรจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์
อ่านข่าว : ขึ้นเหนือรับลมหนาว หย่อนใจในหุบเขา บ้านแม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน
หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัด คือ "ทุ่งดอกบัวตอง" บนดอยแม่อูคอ ใน ต.แม่อูคอ ในทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมความงาม เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันทุ่งดอกบัวตอง อยู่ในความรับผิดชอบของ "โครงการพัฒนาป่าไม้ที่สูง หน่วยที่ 5 กองอนุรักษ์ต้นน้ำ"
"ทุ่งดอกบัวตอง" บนดอยแม่อูคอ ในทุกปีจะบานสะพรั่งเหลืองอร่ามเต็มดอย บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ บนความสูงประมาณ 1,600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ย.-ธ.ค. ด้วยมีลักษณะของภูเขาสลับซับซ้อนคล้ายคลื่นทะเล และบริเวณโดยรอบไม่มีต้นไม้ใหญ่จึงทำให้มองเห็นทัศนียภาพขได้ 360 องศา เป็นแลนด์มาร์คที่เที่ยวถ่ายรูปสำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ทุ่งบัวตอง ดอยแม่อูคอ นับเป็นทุ่งดอกบัวตองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ละปีสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศไปเยือน และชมความงดงามของทุ่งดอกไม้สีเหลืองอร่าม เป็นอีกหนึ่งในสถานที่ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องหาโอกาสไปชมให้ได้ นอกจากจะเป็นจุดชมทุ่งดอกบัวตองแล้ว ยังมีจุดร้านค้าจำหน่ายสินค้า OTOP รวมถึงลานกางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ปี 2566 นี้ จ.แม่ฮ่องสอน เปิดงานเทศกาลท่องเที่ยว "ดอกบัวตองบานบนดอยแม่อูคอ" ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ณ ศาลาแปดเหลี่ยม โดยจะมีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นถิ่น พิธีรับขวัญดอกบัวตอง และการจำหน่ายสินค้า OTOP ของจังหวัด ภายในบริเวณลานจอดรถที่ทุ่งบัวตอง
รู้จัก "ดอกบัวตอง"
บัวตอง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tithonia diversifolia (Hemsl.) A.Gray.) มีถิ่นกำเนิดเม็กซิโก และแถบอเมริกากลาง เริ่มแรกถูกนำเข้ามาปลูกเพื่อความสวยงาม แต่ปัจจุบันแพร่กระจายทั่วไปในที่โล่งและไร่ร้างทางภาคเหนือ ที่สูงประมาณ 600-1200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
บัวตอง เป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 6 เมตร มีไหลใต้ดิน ใบ เป็นใบเดี่ยวออกสลับ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอมเทา มีขนประปรายทั้ง 2 ด้าน
ส่วน "ดอก" มีสีเหลืองทอง ออกเป็นช่อกระจุกเดี่ยวที่ปลายกิ่ง เส้นผ่าศูนย์กลาง 6-14 ซม. ริ้วประดับมี 3-4 ชั้น เรียงเป็นรูประฆัง ดอกวงนอกมี 12-15 กลีบ เป็นหมัน กลีบดอกเป็นรูปรางน้ำขอบขนาน ยาว 3-5 ซม. ปลายจัก ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นหลอดยาว 0.7-1 ซม.
มีเกสรผู้ 5 อัน อับละอองเรณูสีดำ ที่ปลายสีเหลือง ผล รูปขอบขนาน ยาว 0.5-0.8 ซม. ปลายและโคนสอบค่อนข้างแบน
เช็กปฏิทิน วางแผนเที่ยวแม่ฮ่องสอน ต.ค.- พ.ย.66
นอกจากเที่ยว ทุ่งดอกบัวตอง แล้ว ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน ยังเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั่วภูมิภาค เข้าร่วมกิจกรรมประเพณี ประจำเดือน ต.ค. - พ.ย.2566 รวมถึงเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ในช่วงฤดูกาลปลายฝน ออกมาท่องเที่ยว มาสัมผัสบรรยายท่ามกลางขุนเขา
• เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวปางอุ๋ง อ.เมือง วันที่ 1 ตุลาคม 2566
• งานเทศกาลเที่ยวปาย (เชิงสะพานน้ำปาย) อ.ปาย วันที่ 14-20 ตุลาคม 2566
• งานประเพณีกาดหลู่เมืองปาย (สนามข้างเทศบาลฯปาย) อ.ปาย วันที่ 19-27 ตุลาคม 2566
• นมัสการพระธาตุดอยกองมู และลอยกระทงสวรรค์ อ.เมือง วันที่ 23 - 27 พฤศจิกายน 2566
• ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด อ.เมือง วันที่ 25 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน 2566
• ประเพณีสิบสองมนล่องผ่องไต (ลอยกระทงใหญ่ ต.ปางหมู) อ.เมือง วันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2566
• สืบสานประเพณีออกพรรษาภูมิปัญญาท้องถิ่น อ.แม่สะเรียง วันที่ 26 - 27 ตุลาคม 2566 (อบต.แม่คง)
• ประเพณีออกหว่า อ.แม่สะเรียง วันที่ 28-30 ตุลาคม
• ขบวนแห่จองพารา ออกพรรษา (ซูตองเป้) อ.เมือง วันที่ 28 ตุลาคม
• ตักบาตรเทโวโรหณะ (วัดพระธาตุดอยกองมู) อ.เมือง วันที่ 29 ตุลาคม
• ตักบาตรเทโวโรหณะ (สะพานซูตองเป้) อ.เมือง วันที่ 30 ตุลาคม
• งานทอดกฐิน (วัดภูสมณาราม สะพานซูตองเป้) อ.เมือง วันที่ 31 ตุลาคม
• เปิดถนนคนเดินแม่ฮ่องสอน อ.เมือง วันที่ 1 พฤศจิกายน
• งานรื่นเริงต้อนรับเทศกาลทุ่งดอกบัวตอง วันที่ อ.ขุนยวม 5 – 9 พฤศจิกายน
• พิธีเปิดเทศกาลเที่ยวทุ่งดอกบัวตอง อ.ขุนยวม วันที่ 11 พฤศจิกายน
• เปิดถนนคนเดินปาย ถนนสายวัฒนธรรม อ.ปาย วันที่ 26 พฤศจิกายน
• ประเพณีลอยกระทงเขาวงกต ณ วัดแม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย วันที่ 22-27 พฤศจิกายน
• เทศกาลชิมกาแฟห้วยห้อม (ต.ห้วยห้อม) อ.แม่ลาน้อย วันที่ 9-11 ธันวาคม
ฤดูหนาวไทยปี 66 หนาวนานแค่ไหน อุณหภูมิต่ำสุดเท่าไร
ในปี 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย ว่า ฤดูหนาวอาจเริ่มต้นเดือน พ.ย.และจะขยับสั้นลงเหลือช่วงปลายเดือน ม.ค.2567 จากเดิมที่มักจะสิ้นสุดฤดูหนาวช่วงปลายเดือน ก.พ.
ขณะที่อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบนประมาณ 21-22 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 19.9 องศาเซลเซียส) และจะมีอากาศหนาวเย็นน้อยกว่าปีที่ผ่านมา (อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 20.8 องศาเซลเซียส)
สำหรับช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดจะอยู่ในช่วงประมาณต้นเดือน ธ.ค.2566 ถึงปลายเดือน ม.ค.2567 โดยอุณหภูมิต่ำที่สุดประมาณ 9-10 องศาเซลเซียส ส่วนมากจะอยู่ตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณเทือกเขา ยอดดอยและยอดภู จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้
สำหรับปีนี้ใครวางแผนจะไปเที่ยวรับลมหนาวในพื้นที่ไหน ก็อย่าลืมรักษาความสะอาด รักษาธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้แหล่งท่องเที่ยวสวยงามไปอีกนาน
อ่านข่าวอื่น ๆ
หนาวช้า! ไม่เย็น-ฤดูขยับสั้น อากาศร้อนกลางหนาว 1.5 องศาฯ
ขึ้นเหนือรับลมหนาว หย่อนใจในหุบเขา บ้านแม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน