ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขึ้นทะเบียน “มังคุดทิพย์พังงา” สินค้า GI ใหม่

เศรษฐกิจ
26 ต.ค. 66
17:23
1,162
Logo Thai PBS
ขึ้นทะเบียน “มังคุดทิพย์พังงา” สินค้า GI ใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่ “มังคุดทิพย์พังงา” โดดเด่นรสชาติหวานอมเปรี้ยว เนื้อขาว หนานุ่ม เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งไทย-ต่างชาติ

วันนี้ (26 ต.ค.2566) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ “มังคุดทิพย์พังงา” พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของ จ.พังงา ที่มีการเพาะปลูกกันมาอย่างยาวนาน มีชื่อเสียงและมีผลผลิตจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น จีน เวียดนาม สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนกว่า 280 ล้านบาท

มังคุด ถือเป็นราชินีแห่งผลไม้เมืองร้อน มีรสชาติอร่อย เป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยชื่อ “ทิพย์พังงา” มีความหมายว่า ผลไม้ของเทวดาที่มีรสเลิศจาก จ.พังงา มีลักษณะเด่น คือ เป็นมังคุดพันธุ์พื้นเมือง ผลทรงกลม เปลือกค่อนข้างหนา แห้ง แตกลาย เนื้อสีขาว หนานุ่ม ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่ จ.พังงา ซึ่งสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชัน ดินระบายน้ำดี อีกทั้งลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน ทำให้พังงามี 2 ฤดู คือ ฤดูฝน และฤดูร้อน

ด้วยสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ประกอบกับกระบวนการปลูกมังคุดของเกษตรกรชาวพังงาที่เน้นการดูแลรักษาแบบธรรมชาติ จึงเกิดเพลี้ยไฟในช่วงออกดอกและติดผลอ่อน มีผลดี คือ ทำให้โครงสร้างของผิวเปลือกเปลี่ยนแปลง มีรอยแยกระหว่างเซลล์ เกิดเป็นช่องว่างบนผิว ทำให้ผิวของผลมังคุดส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นลาย ระบายน้ำในผลออกมาได้ดี ส่งผลให้เนื้อมังคุดสีขาว แห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ และเปลือกมังคุดค่อนข้างหนา ทำให้เนื้อมังคุดไม่ช้ำง่าย

มังคุดทิพย์พังงา เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของ จ.พังงา ต่อจากทุเรียนสาลิกาพังงา และข้าวไร่ดอกข่าพังงา ที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเดินหน้าส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า และสนับสนุนช่องทางการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนอย่างยั่งยืน

สำหรับการยกระดับสินค้าท้องถิ่นผ่านการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง