วันนี้ (31 ต.ค.2566) ชาวโซเชียล และเพจเฟซบุ๊กในด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า แสดงความเสียใจเหตุนายจงรัก จงศรี เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ชุดที่ 3 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เสียชีวิตจากการถูกช้างป่าทำร้าย ขณะเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (30 ต.ค.2566)
นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า เบื้องต้นจะจ่ายเงิยชดเชยกรณีเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติงานให้ครอบครัว 500,000 บาท และเงินจากกองทุนและมูลนิธิต่าง ๆ
ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ผู้เสียชีวิตทำงานมาได้หลายเดือนแล้ว เปิดเผยว่า เหตุเกิดเวลา 14.00-15.00 น. วานนี้ (30 ต.ค.) หลังได้รับแจ้งว่าช้างป่า 5-6 ตัว ออกจากป่าเข้ามาในพื้นที่ชุมชนและข้ามถนน เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าตรวจสอบหน้างาน เพราะคิดว่าช้างป่าเคลื่อนไปหมดแล้ว แต่ยังเหลืออีก 1 ตัว คาดว่าเป็นช้างตัวพี่ใหญ่ที่ยืนคุมอยู่ริมถนน ได้พุ่งทำร้ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต
ถ้าเจอระยะกระชั้นชิด ช้างพุ่งไปหาใครก็เสี่ยงสูง หนีไม่ทัน น้อง ๆ พวกนี้มีความรับผิดชอบสูง เมื่อชาวบ้านแจ้งก็เข้าไปตรวจสอบทันที
สำหรับผู้เสียชีวิตปฏิบัติหน้าที่ได้หลายเดือนแล้วและมีประสบการณ์พอสมควร นายเผด็จยอมรับว่า แม้จะได้รับการฝึกอบรม แต่หากเจอช้างป่าในระยะประชิดก็มีความเสี่ยงสูง สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกตลอดว่า "ชุดเฝ้าระวังผลักดันช้าง ต้องมีความกลัวด้วย ไม่ได้มีความเก่ง ความกล้าอย่างเดียว เพราะประมาทไม่ได้สักวินาที" แต่ถ้าไม่ยอมเสี่ยงเลยก็ทำงานไม่ได้ ซึ่งทักษะต่าง ๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานระมัดระวังตลอดเวลา เพราะพลาดได้ตลอด
"ช้างป่าตะวันออก" ประชากรเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การประเมินทางวิชาการ พบว่า ช้างป่าตะวันออกมีประชากรประมาณ 592 ตัว เจ้าหน้าที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดัน เพราะช้างป่าจะอยู่บริเวณ "เขาภูหีบ" ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ครอบคลุมหลายตำบลใน 2 อำเภอ พฤติกรรมช้างป่าจะออกนอกพื้นที่ได้หลายเส้นทาง ซึ่งช้างมักเข้ามากินพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่ ทั้งข้าว ปาล์ม อ้อย เมื่อเจ้าหน้าที่กดดันเส้นทางหนึ่ง ช้างก็จะไปออกอีกเส้นทางหนึ่ง เฉพาะชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าเขาอ่างฤาไน จึงจัดให้เจ้าหน้าที่ 17 ชุด ชุดละ 5-7 คน
ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ว่า ถ้าไม่จำเป็นห้ามผลักดันช้างในตอนกลางวัน เพราะเป็นเวลาที่ช้างพักผ่อน หลบแดด สายตาจะหรี่ลงไม่สู้แสง เมื่อช้างเดี่ยวรวมตัวกันแสวงหาที่อยู่ใหม่ และเผชิญหน้ากับคน อาจพยายามต่อสู้
ช้างเดี่ยว ตัวผู้รวมตัวกัน 5-6 ตัว เป็นช้างดื้อทั้งหมด ให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับชาวบ้าน อย่าผลักดันในตอนกลางวัน หลายคนเข้าใจผิดว่ามองเห็นตัวช้างชัดเจนแล้วจะหนีทัน
ปรับแผนใช้ "โดรน-คลื่นเสียง-คุมช้างเกเร"
นายเผด็จ กล่าวว่า พฤติกรรมช้างเดี่ยวจะออกมาหาที่อยู่ใหม่ในระยะเวลา 2 ปี จึงต้องผลักดันให้กลับเข้าป่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้อุปกรณ์ช่วยผลักดัน ทั้งการใช้คลื่นเสียง เพื่อให้ช้างเกิดความรำคาน แต่พบว่ายังไม่ได้ผลมากนัก เพราะช้างหยุดชะงักเล็กน้อยเท่านั้น
การใช้โดรนติดอุปกรณ์ควบคุมช้าง ซึ่งได้ขอความร่วมมือจากสมาคมต่าง ๆ และสัตวแพทย์ เพื่อให้ปลอดภัยต่อตัวช้าง โดยจัดหาโดรน ใช้งบประมาณปี 2567 แต่อาจปรับแผนจากจัดซื้อโดรนตัวใหญ่ 1 ตัว ใช้งานในการควบคุมพฤติกรรมช้างป่า และยิงยาคุมกำเนิด เป็นโดรนตัวเล็ก ลดความเสี่ยงมนุษย์ เพราะช้างป่าบางตัวเคยถูกยิง หรือถูกทำร้าย ทำให้จำฝังใจและแค้นที่ถูกคนทำร้าย
ยืนยันการใช้แนวทางดังกล่าว เป็นการสร้างเงื่อนไขให้ช้างรำคาน ไม่เป็นอันตรายต่อตัวช้างป่า
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างทำต้นแบบ "สถานที่ปรับพฤติกรรมช้าง" ในกรณีช้างที่มีนิสัยก้าวร้าว และผลักดันเข้าป่าไม่ได้ เบื้องต้นได้จับพลาย "ไข่นุ้ย" มารอปรับพฤติกรรม ระหว่างรอก่อสร้างสถานที่แล้วเสร็จประมาณ 6 เดือน จากนั้นจะพยายามหางบประมาณและความร่วมมือต่าง ๆ สร้างสถานที่ปรับพฤติกรรมเพิ่มเติมในพื้นที่อื่น ซึ่งเพื่อนช้างจะรับรู้และกลับเข้าป่า เพราะกลัวจะถูกจับปรับพฤติกรรมด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตามหา "งา 1 ม." พลายงาทอง เพลี่ยงพล้ำศึกชนช้างเขาใหญ่
อัปเดตช้างเกเร "พลายไข่นุ้ย" ตัวตึงกรุงชิง เร่งสร้างคอกอนุบาล