ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปะการังเขากวาง "เกาะยักษ์ใหญ่" ป่วยโรค SCTLD ทช.เก็บเนื้อเยื่อ

Logo Thai PBS
ปะการังเขากวาง "เกาะยักษ์ใหญ่" ป่วยโรค SCTLD ทช.เก็บเนื้อเยื่อ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"อาจารย์ธรณ์" โพสต์เป็นห่วงพบปะการังเขากวาง เกาะยักษ์ใหญ่ในหมู่เกาะช้าง จ.ตราด เป็นโรค SCTLD ส่งผลเนื้อเยื่อปะการังลามและตาย หนักกว่าปะการังฟอกขาว ทช.ส่งทีมติดตามการลุกลามของโรคเก็บเนื้อเยื่อตรวจ

วันนี้ (2 พ.ย.2566) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) โพสต์เฟชบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่าได้รับภาพจากกลุ่มนักดำน้ำที่หมู่เกาะช้าง และพบว่ามีปะการังเขากวางจำนวนมากกำลังตาย ซึ่งเดิมเข้าใจว่าเป็นปะการังฟอกขาว แต่ลองดูภาพแล้วคิดว่าไม่ใช่ ช่วงนี้น้ำทะเลไม่ได้ร้อนจัดขนาดนั้น อีกทั้งการตายของปะการังมีลักษณะเหมือนเป็นโรค SCTLD 

โรคนี้ทำให้เนื้อเยื่อปะการังตาย ลามออกไปเรื่อยๆ ในภาพจะเห็นว่าบางส่วนยังมีสีมีชีวิต แต่มีสีขาวที่ลามขึ้นมา ส่วนนั้นคือตายแล้ว แตกต่างจากปะการังฟอกขาวที่ต้องขาวพร้อมกัน ตายพร้อมกันทั้งหมด

ดร.ธรณ์ กล่าวว่า สำหรับ SCTLD มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ระยะหลังรุนแรงมากขึ้น โดยปี 2565 เกิดโรคนี้ที่ปะการังแถวแสมสาร ในช่วงรอยต่อเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ ครั้งนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงไปตรวจสอบพยา ยามหาทางแก้ไข แต่มันยากมากเคราะห์ดีที่ระบาดอยู่ช่วงสั้นๆ พอปี 2566 ก็เบาลง

ล่าสุดคณะประมง เพิ่งไปเช็กที่เกาะแสมสาร พบว่าเบากว่าปีก่อนมาก แต่ปะการังที่ตายไปแล้วก็ตายไป ยังไม่ฟื้นง่ายๆ ทั้งนี้ เดิมวางใจคิดว่าคงเป็นปรากฏการณ์เฉพาะปีมาเห็นภาพนี้ ตกใจมากสถานที่คือเกาะยักษ์ใหญ่ เป็นเกาะเล็กๆ ใกล้เกาะรังอยู่ในเขตอุทยานหมู่เกาะช้าง

นักวิชาการห่วงกระทบนิเวศ-ท่องเที่ยวชื่อดัง

เกาะแห่งนี้เป็นจุดท่องเที่ยวดำน้ำโด่งดัง เพราะในแถบนี้ไม่ค่อยมีปะการังสวยๆ นักท่องเที่ยวจากเกาะช้าง เกาะหมาก หรือแม้กระทั่งเกาะกูดบางทีก็มาดำน้ำเที่ยวกันที่นี่ โดยเฉพาะดงปะการังเขากวางหนาแน่นที่ปัจจุบันหาดูยากเหลือเกิน

อุทยานวางทุ่นไข่ปลาไว้รอบเกาะ บริหารจัดการอย่างดี นั่นคือครั้งหลังสุดที่ผมไปเห็นเมื่อ 2-3 ปีก่อนปัญหาคือโลกที่เปลี่ยนไป ภัยคุกคามไม่ได้มีเพียงสมอเรือ นักท่องเที่ยวเตะโดนปะการัง ภัยยุคนี้รุนแรงกว่านั้น ป้องกันแก้ไขยากกว่านั้น เช่น โรคปะการัง ปะการังฟอกขาว 

นักวิชาการ ระบุว่า ยังบอกไม่ได้ว่าโรคปะการังที่เกิดบ่อยขึ้นโดยเฉพาะในภาคตะวันออก เกี่ยวข้องกับโลกร้อน หรือสภาพความแปรปรวนของท้องทะเลหรือไม่  แต่บอกได้ว่าเป็นกังวลมากกับสภาพแนวปะการังในภาคตะวันออก

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หน้าร้อนปะการังฟอกขาว เข้าหน้าหนาวปะการังเป็นโรค ย้ายที่ไปเรื่อยๆ แล้วจะทำอย่างไร ผลกระทบไม่ใช่แค่ระบบนิเวศ แค่ส่งผลต่อถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจุดดำน้ำสำคัญ

ทช.เล็งติดตามโรคปะการังที่เกาะยักษ์ใหญ่

แม้เป็นพื้นที่ของกรมอุทยาน แต่คิดว่าคงต้องทำงานร่วมกันกับ ทช. เพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปะการังที่สามารถวิเคราะห์ในรายละเอียดมากกว่า และฝากเพื่อนนักดำน้ำช่วยกันตรวจสอบพื้นที่รอบๆ อีกที หากพบปะการังตายในลักษณะนี้ให้รีบแจ้งมา เพราะยังมีข้อมูลน้อยมาก

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และน่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต คิดว่าเราต้องประเมินความเสี่ยงของระบบนิเวศ ก่อนมุ่งเน้นงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้เรามีความรู้พอรับมือและจัดการได้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทช.ระบุว่า เบื้องต้นศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าไม่สามารถระบุโรคปะการังจากการแผลสีขาวภายนอกได้ จำเป็นต้องติดตามอัตราการลุกลามของโรค และเก็บตัวอย่างเนื้อเยื้อเพื่อวิเคราะห์เชื้อก่อโรคต่อไป รวมทั้งไม่สามารถรักษาโรคประเภทประเภทแผลสีขาว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง