ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลผ่านสังคมออนไลน์ มีสื่อต่าง ๆ มากมายที่คอยป้อนข้อมูลเข้าสู่เราทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว จะดีหรือไม่หากเราสามารถเข้าใจปรัชญาว่าด้วยเหตุผลของการที่เราตัดสินใจเชื่อในข้อมูล หรือสามารถที่จะบอกว่าข้อมูลนั้นถูกต้อง หรือถูกโน้มน้าวได้
อริสโตเติล นักปรัชญาจากยุคกรีกโบราณ เคยสร้างหลักการเพื่ออธิบายกลไกของการที่เรารู้สึกเชื่อในอะไรบางอย่าง หรือถูกโน้มน้าวให้สามารถทำสิ่งที่ผู้ส่งสารต้องการให้ทำ โดยหลักการดังกล่าวถูกเรียกว่าวาทศาสตร์ (Rhetoric) ซึ่งใช้ในการโน้มน้าวใจ ที่อาจนำไปสู่การบอกให้เชื่อ บอกให้ทำตาม (เช่น การซื้อสินค้าและบริการ) หรือบอกให้ส่งต่อ
โดยที่วาทศาสตร์นั้นไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การอธิบายหรือถามหาความจริงเหมือนกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมีกระบวนการคิดที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามคำว่า “กระบวนการ” ก็สามารถถูกนำมาใช้อธิบายที่มาที่ไปในการที่เราจะตัดสินใจเชื่อในอะไรบางอย่างได้ โดยอริสโตเติล ได้แบ่งแกนสามแกนของวาทศาสตร์ (Rhetoric Triangle) เป็น เอทอส (Ethos) โลกอส (Logos) และ พาทอส (Pathos)
Ethos
เอธอส เป็นการใช้ความน่าเชื่อถือของผู้พูดเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ฟังเชื่อหรือปฏิบัติตาม เช่น “เพราะฉันเป็นหมอ สิ่งที่ฉันพูดจึงน่าเชื่อถือ” โดยที่สิ่งที่ผู้พูดนั้นอาจเป็นจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่เนื่องจากผู้พูดหรือผู้ส่งสารดูน่าเชื่อถือ คำพูดหรือคำโฆษณาในลักษณะนี้ก็เช่น “ยาสีฟันที่ทันตแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำ” หรือ “อ้างอิงจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แนะนำว่าคืนนี้จะมีฝนดาวตก” ซึ่งจะให้ความสำคัญไปที่ตัวบุคคลเป็นหลัก และอาจไม่สนใจในความสมเหตุสมผลของผู้ส่งสารนั้น
Logos
โลกอส คือการใช้ตรรกะและเหตุผล ซึ่งจะใกล้เคียงกับการให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เช่น “เพราะวันนี้ฝนตก น้ำในแม่น้ำจึงมีโอกาสเอ่อล้น” เราจะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าผู้พูดจะเป็นใคร พอใช้การให้เหตุผล จะฟังดูน่าเชื่อถือ ไม่ว่าผู้พูดจะเป็นนักอุตุนิยมวิทยา หรือคนธรรมดาทั่วไป ก็สามารถทำให้คนอื่นรู้สึกว่าสิ่งที่พูดสมเหตุสมผล
อย่างไรก็ตาม การใช้โลกอสอาจไม่ใช่ว่าสิ่งที่พูดจะสมเหตุสมผลเสมอไป เพราะอาจเป็นการให้เหตุผลแบบตรรกะวิบัติ (Fallacy) ก็ได้ โดยที่ฟังก็อาจจะรู้สึกเชื่ออยู่ดี ดังนั้นโลกอสเป็นความรู้สึก ไม่ใช่การบ่งบอกว่าข้อมูลนั้นเป็นเหตุเป็นผล เราจะเห็นการใช้โลกอสในงานด้านวิทยาศาสตร์เทียมบ่อย
Pathos
พาธอส คือคำอธิบายของการใช้วาทะที่สัมผัสกับตัวผู้รับสารโดยตรง โดยอาจเป็นการแสดงความเข้าอกเข้าใจ เช่นการบอกว่าตนนั้นเข้าใจความรู้สึก หรือมีบางสิ่งบางอย่างเหมือนกัน มีความเป็นกลุ่มก้อน เป็นพวกเดียวกัน เรามักจะเห็นตัวอย่างของการเล่นกับความรู้สึกแบบนี้กับการขายสินค้ากลุ่มประกันภัยและประกันสุขภาพ ซึ่งผู้ส่งสารจะต้องพยายามโน้มน้าวว่าสินค้าชิ้นนี้เหมาะสมกับผู้ซื้อเพียงใด โดยอาจหยิบยกเอาวิถีชีวิต เรื่องราวชีวิตมาประกอบการโน้มน้าว
แน่นอนว่าในการสื่อสาร เราอาจพบการใช้การโน้มน้าวทั้ง 3 ลักษณะประกอบเข้าด้วยกัน คำโฆษณาอาจฟังดูมีเหตุผล พูดโดยผู้ที่น่าเชื่อถือ และดูเข้าอกเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้ ต้องอย่าลืมว่าคำอธิบายเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อบอกว่าข้อมูลนั้นจะผิดหรือไม่ผิด แต่สาระสำคัญคือในการที่เราเชื่อในข้อมูล หรือทำอะไรบางอย่าง มันมีองค์ประกอบของ 3 สิ่งนี้ ในกระบวนการพิสูจน์ความจริง หรือค้นหาความจริงจะเป็นกระบวนการอีกลักษณะหนึ่ง
การที่เราสามารถแบ่งแยกลักษณะของวาทศิลป์การโน้มน้าวได้เหมือนกับเป็นเครื่องเตือนใจว่าเวลาที่เราเลือกที่จะรับฟัง ปฏิบัติตาม หรือเชื่อข้อมูลใด ๆ เรากำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ ซึ่งจะเป็นรากที่สำคัญของการตามหาความจริงตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอยู่ในระดับของเหตุผลเพิ่มเข้ามา นอกเหนือจากความรู้สึก
ที่มาข้อมูล: อ้างอิง Rhetoric ของอริสโตเติล ผ่าน Stanford Encyclopedia of Philosophy
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech