ป้ายคัดค้าน คนพะโต๊ะ-ชุมพร ไม่เอาโครงการแลนด์บริดจ์ พบเห็นได้ทั่วไปในหมู่บ้าน
หลังรัฐบาลปัดฝุ่น โครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติรับทราบในหลักการของโครงการแลนด์บริดจ์ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
ขณะนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากชาวบ้านในพื้นที่โครงการใน จ.ชุมพร และระนอง โดยกลุ่มอนุรักษ์ และชาวบ้านในพื้นที่ตั้งโครงการเริ่มออกมาคัดค้านโครงการ
เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ยื่นหนังสือผ่านนายอำเภอพะโต๊ะ ขอให้ทุกหน่วยงานยุติทุกกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองไว้ก่อน
และเรียกร้องให้ศึกษาผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ทั้งจากโครงการท่าเรือน้ำลึก และเส้นทางรถไฟที่จะพาดผ่านพื้นที่ อ.พะโต๊ะ
เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะเตรียมจัดกิจกรรมวันที่ 14 พ.ย.นี้เพื่อชำแหละผลกระทบโครงการ
เพจความอุบัติเมืองมลพิษแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ระบุว่า จากการที่เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เดินสายให้ข้อมูลชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ จากโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ใน 4 ตำบล เขตอำเภอพะโต๊ะ ชุมชน คนไทยพลัดถิ่น ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง และเคือข่ายประชาชน 5 อำเภอ จ.ชุมพร
สรุปผลสำคัญคือ ทุกพื้นที่มติคัดค้านแลนด์บริด และเชิญชวนประชาชนในทุกจังหวัด ร่วมเวทีชำแหละแลนด์บริดจ์ วันที่ 15 พ.ย.นี้ เริ่มเวลา 08.30 น.ที่อบต.พะโต๊ะ
แลนด์บริดจ์กระทบอะไรบ้าง?
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า พื้นที่โครง การแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง อยู่ในพื้นที่อันดามันมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 4 ซึ่งไทยได้รับการบรรจุขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น กับคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อปี 2564
ไทยต้องส่งรายงานการศึกษาฉบับเต็มให้กับมรดกโลก ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนเวียนให้หน่วยงานต่างๆ ก่อนชงเสนอ ครม.ส่งไปศูนย์มรดกโลก
นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
นายศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า ประเด็นไม่ใช่แค่การจะทำให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกล่าช้า แต่เป็นผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล ป่าชายเลน ป่าชายหาด เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล แนวปะการังน้ำตื้น น้ำลึก และมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากเมกกะโปรเจ็กต์ ถ้าไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบทุกมิติ โดยเฉพาะพื้นที่สงวนชีวมณฑลปี 2545 มีการประกาศให้พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากคลองกะเปอร์-ปากแม่น้ำกระบุรี จ.ระนอง
ถมทะเล 7,000 ไร่เสี่ยงนิเวศพัง
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าวอีกว่า ที่น่าห่วงจากโครงการแลนด์บริดจ์คือ การมีการถมทะเล 7,000 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่เกือบเท่าเกาะพยาม จ.ระนอง เกาะกลางทะเล จะกระทบวงจรที่ของกระแสน้ำ การเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิตสัตว์ทะเล ที่จะเข้ามาวางไข่ในป่าชายเลนถูกขวางด้วยท่าเรือแน่นอน
ดังนั้นจึงอยากเสนอทั้งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานฯ ต้องศึกษาว่ามีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนที่เข้ามาใช้พื้นที่ และจะกระทบจากโครงการนี้
เป็นโจทย์คำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพราะยังไม่มีใครศึกษามาก่อน และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาผลกระทบ
โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง
นอกจากนี้ นักวิชาการ ระบุด้วยว่า แม้ว่าโครงสร้างตัวท่าเรืออยู่นอกเขตอุทยานแหลมสน แต่ว่าโครงสร้างขนาดใหญ่ ที่จะอยู่รอบพื้นที่ บล็อกเส้นทางที่สิ่งมีชีวิตจะเข้ามาการถมทะเล 7,000 ไร่ ซึ่งไม่เพียงแค่นั้นยังมีเขื่อนกันคลื่น ขุดร่องน้ำให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาได้ โดยตัวโครงการไม่จบแค่แค่เฟส 1 แต่มีเฟส 2 และ 3 ซึ่งถนนเส้นท่าเรืออยู่นอกเขตป่า แต่ถนนเส้นที่ผ่านป่าชายเลนที่มีความหนาของป่า 4-6 กม.แล้วแต่พื้นที่
โลหะหนัก-น้ำมันรั่วไหลไม่ควรมองข้าม
นายศักดิ์อนันต์ ยังกังวลว่าเรื่องสารโลหะหนัก เพราะปกติโลหะหนัก จะจับตัวกับสารอินทรีย์ในดินเลน ไม่ว่าจะมาจากแผ่นดินมาลงทะเลก็จะถูกจับในดินเลนได้และสะสมในพื้นดิน
การขุดลอกขึ้นมาเท่ากับเป็นการขุดตะกอนโลหะหนักขึ้นมาจะฟุ้งกระจายไปไหน ไกลแค่ไหน
รวมทั้งการมีท่าเรือมีการขนส่งน้ำมัน มีแปรรูปน้ำมัน จึงมีใครรับประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่เกิดน้ำมันรั่วไหล เพราะที่ผ่านมาหลายท่าเรือทั้งแหลมฉบัง มาบตาพุด ศรีราชา เกาะเสม็ด จ.ชลบุรี เมื่อรั่วไหลแล้วน้ำมันพัดผิวหน้าน้ำ เข้าเกาะหาดทราย ยังเก็บได้รวบรวมได้
แต่ถ้ารั่วในพื้นที่หาดเลน ที่เป็นหาดเลนที่มีสารอินทรีย์เยอะ น้ำมันกับสารอินทรีย์มันจับตัวกัน มันมองไม่เห็น มันจับตัวกันเข้าสู่วงจรห่วงโซ่อาหารสิ่งแวดล้อม และมีอันตรายยิ่งกว่าเก็บออกไม่ได้
ประเด็นต่อมาเส้นทางบนบก ตัวท่าเรือในทะเล แต่ถนนที่ผ่านป่าชายเลน 4 กม. จะทำอย่างไรตอนนี้ ตอนนี้มีการพูดถึงถนนผ่านป่าชายเลน ที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะทำทางยกระดับทำถนนหรืออะไร ต้องประเมิน
สุดท้ายวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่งตลอด 4,000 ครัวเรือนพึ่งพาทรัพยากรชายฝั่ง และไม่ใช่แค่รัศมี 5 กม. แต่ทำประมงชายฝั่งตลอดระนอง หาต้องถอยร่นทำประมงด้านล่างลงไป หรือถ้านิเวศเสียหายจะทำอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการแลนด์บริจด์ จะทำต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่จะสูญเสีย ต้องประเมินผลกระทบอย่างละเอียด ไม่ใช่แค่การศึกษาแบบเดาๆ
อ่านข่าว
"สุริยะ" ยันเดินหน้าต่อ "แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง" แต่ต้องรอ สนข.ศึกษาให้เสร็จ
สอดคล้องกับข้อกังวลของ สมโชค จุงจาตุรันต์ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ บอกว่า ชาวบ้านอ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ทำเกษตร 6,178 ครัวเรือน คิดเป็น 97.09% มีพื้นที่เกษตรรวม 149,578 ไร่ มีรายได้จากเกษตรปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท จำนวนนี้ 80% ไม่มีเอกสารสิทธิ ถ้าถูกเวนคืนจะได้รับเฉพาะค่าอาสินที่ให้ผลผลิตแล้ว เช่น ทุเรียน ต้นละ 18,740 บาท มังคุด ต้นละ 5,710 บาท ปาล์มน้ำมัน อายุ 3 ปีขึ้นไป ต้นละ 5,800 บาท ยางพารา ต้นละ 4,370 บาท
กรณีสวนทุเรียน เนื้อที่ 8 ไร่ ประมาณ 60 ต้น ถ้าถูกเวนคืนจะได้ค่าอาสินแค่ 1.1 ล้านบาท ไม่สามารถซื้อที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ได้เท่าเดิม เพราะที่ดินมีราคาสูง แต่หากยังคงอยู่ในพื้นที่จะมีรายได้จากทุเรียน ปีละประมาณ 2.5 ล้านบาท สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดชีวิต และเป็นมรดกให้ลูกหลาน จึงยืนยันที่จะอยู่ในพื้นที่และต่อสู้จนถึงที่สุด
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียกคมนาคมถกก่อนไปโรดโชว์งาน APEC
อะไรคือโครงการแลนด์บริดจ์
ผลการศึกษาเบื้องต้นของ สนข.กระทรวงคมนาคม ประมาณมูลค่าลงทุนในการพัฒนาแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ไว้ 1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย
- การก่อสร้างท่าเรือ 636,477 ล้านบาท (ท่าเรือฝั่งชุมพร 305,666 ล้านบาท, ท่าเรือฝั่งระนอง 330,810 ล้านบาท)
- การพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) ทั้งสองฝั่งมีมูลค่าลงทุนรวม 141,103 ล้านบาท
- มอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ รวม 223,626 ล้านบาท
- โครงการท่าเรือนานาชาติระนอง
- การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ
ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ ครม.เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 รับทราบ ตามแผนช่วงเดือนพ.ย.2566 จะรับฟังความเห็นในพื้นที่โครงการ จากนั้นปี 2567 จะจัดทำกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)
และเมื่อเข้าสู่ปี 2568 ประมาณเดือน เม.ย.-มิ.ย.2568 จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เม.ย.-มิ.ย.2568 ก่อนที่จะออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิที่ดินช่วงม.ค.2568 -ธ.ค.2569
คาดว่าจะเสนอ ครม.อนุมัติลงนามในสัญญาได้ในเดือนก.ค.-ส.ค.2568 ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ในเดือน ก.ย.2568 - ก.ย.2573 และเปิดให้บริการในเดือน ต.ค.2573
อ่านข่าว
“เศรษฐา” พอใจถกนายกฯ จีน เดินหน้า “แลนด์บริดจ์” ดันผุดสะพานข้ามโขงอีก
คุ้มหรือไม่ "เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน"