กรณีโลกออนไลน์แชร์เอกสารที่ระบุว่า เป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ศึกษาเรื่องการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์วงกว้าง
วันนี้ (5 พ.ย.2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นเพียงข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในที่ประชุมครม.ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ เมื่อแล้วเสร็จจะเสนอให้นายกรัฐมนตรี ยังไม่รู้ว่าแนวทางที่ศึกษาจะทำได้แค่ไหน อาจจะทำหรือไม่ทำตามก็ได้
สำหรับหนังสือเอกสารดังกล่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา นายธวัชชัย จันทร์ไพศาลสิน ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505 /ว(ล) 23425 เรื่องการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ถึงนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน รมว. คลัง รมว.แรงงาน ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการ ก.พ. และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
อ่านข่าว "พิพัฒน์" เล็งปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ธ.ค.นี้ แต่อาจไม่ถึง 400 บาท
หนังสือดังกล่าว ระบุว่า เนื่องด้วยในคราวประชุมครม. เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เสนอว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างรายได้ สร้างชีวิตของคนไทยให้มีเกียรติ มีเงินเดือน และค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม สอดคล้องและเพียงพอต่อปัจจัยด้านการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีนั้น จึงขอมอบหมาย
- ให้กระทรวงแรงงาน เร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
- ให้นายปานปรีย์ ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการพลเรือน รับไปเร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ แนวทางกรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือน
สำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจน และรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว ภายในเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งครม.พิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่นายกฯ เสนอจึงเรียนยืนยันมา และขอได้โปรดดำเนินการตามมติ ครม.ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
อ่านข่าว
"นิด้าโพล" 50% หนุนดิจิทัลวอลเล็ต เลิกเกณฑ์คนรวย
"ค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท" หลากเสียงสะท้อนผู้ประกอบการ-แรงงาน