ปนเปื้อน เดอะซีรี่ส์
ปนเปื้อน เดอะซีรี่ส์ EP.1 คดีสิ่งแวดล้อม "มหากาพย์ 23 ปี"
ปนเปื้อน เดอะซีรีส์ EP.3 "ขยะอันตราย" ผู้ก่อมลพิษ ต้องรับผิดชอบ
เมื่อประชาชนธรรมดาได้รับความเดือดร้อนอะไรบางอย่าง เขาเหล่านั้นจะสามารถเรียกหา "ความยุติธรรม" ได้จากใคร
ความเดิม ... ความยุติธรรมที่ถูกฝังกลบไว้จนลึก
1 พฤศจิกายน 2566 ชาวบ้านใน ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี นำโดยนายจำเนียร จินดาโชติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 รวมตัวกันเดินทางไปที่อาคารรัฐสภา เพื่อยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ช่วยติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งตำบลที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารเคมี ที่เกิดจาก "โรงงานรีไซเคิล" บริษัท แว็กซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ที่ลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายไว้ในบริเวณโรงงาน รวมทั้งฝังกลบลงไปใต้ดิน จนของเสียอันตรายซึมลงไปในดิน ในแหล่งน้ำทั้งผิวดินและใต้ดิน กินรัศมีความเดือดร้อนไปถึง 10 กิโลเมตร โดยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2543 หรือ 23 ปีมาแล้ว
เป้าหมายที่พวกเขามารัฐสภา ก็คือ การมาตามหา "ความยุติธรรม" ที่พวกเขายังไม่เคยได้รับ แม้จะได้ชื่อว่า เป็นผู้เสียหายก็ตาม
ก่อนหน้านั้น ชาว ต.น้ำพุ เคยออกตามหาความยุติธรรมมาก่อนหลายครั้ง ตั้งแต่ช่วงที่ได้รับผลกระทบใหม่ๆ เมื่อกว่า 20 ปีก่อนไปจนถึงวันที่พืชผลทางการเกษตร แหล่งน้ำ ผืนดิน ถูกปนเปื้อนด้วยสารตกค้างอันตรายจนเสียหายไปหมด พวกเขาร้องเรียนทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างอุตสาหกรรมจังหวัด และกรมโรงงานอุตสาหกรรม
แต่ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข ร้องเรียนหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่อย่าง จ.ราชบุรี แต่ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ทุกอย่างยังเป็นปกติราวเสมือนความเดือดร้อนที่พวกเขาเผชิญอย่างหนักหน่วง ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ...
ความเปลี่ยนแปลง พอจะเกิดขึ้นได้บ้างเมื่อชาวบ้านเปลี่ยนเป้าหมายไปร้องเรียนเรียนต่อ สื่อมวลชน ภาพพืชผลที่ล้มตาย ภาพสีของน้ำที่ผิดปกติ และเรื่องราวความเดือดร้อน ถูกส่งออกไปยังพื้นที่สื่อช่วยประจานความล้มเหลวของหน่วยงานรัฐในการกำกับดูแลโรงงาน เมื่อเรื่องกลายเป็นข่าวจึงพอมีหน่วยงานรัฐเข้ามาบรรเทาความเดือดร้อนลงบ้างชั่วครั้งชั่วคราว
ชาว ต.น้ำพุ ยังเคยออกเดินทางเรียกร้องความยุติธรรมครั้งใหญ่ ด้วยการจับมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ชื่อว่า มูลนิธิบูรณะนิเวศ รวมตัวประชาชนเกือบทั้งตำบลยื่นฟ้องร้องคดีต่อศาล ซึ่งกลายเป็นความพยายามที่ประสบความสำเร็จ ชาวบ้าน ต.น้ำพุ ถูกยกย่องเป็นแบบอย่างของการสร้างประวัติศาสตร์เป็นคดีแรกในประเทศไทย ที่ประชาชนรวมตัวกันฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มในคดีทางสิ่งแวดล้อม และชนะคดี ... แต่สิ่งที่พวกเขาได้มาหลังจากนั้น ยังไม่สามารถเรียกได้เต็มปากว่า "ความยุติธรรม"
- ผู้ชนะคดี ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาแม้จะมีคำพิพากษาไปแล้วประมาณ 3 ปี เพราะโรงงานอ้างว่า ไม่มีเงิน
- จำนวนเงินที่จะได้รับจากคำพิพากษา มีค่าน้อยกว่ามูลค่าประเมินที่เรียกร้องจากความเสียหายไปหลายเท่าตัว เพราะกระบวนการยุติธรรมนำหลักเกณฑ์การเยียวยา "ภัยแล้ง" มาคำนวน ทั้งที่ความเสียหายจากการปนเปื้อนสารเคมีมีราคา "แพงกว่ามาก" เนื่องจากสิ่งปนเปื้อนจากกากอุตสาหกรรมไม่ได้หายไปได้ง่ายๆ
- ของเสียอันตรายบางส่วนถูกไฟไหม้จากเหตุที่เกิดในโรงงานอย่างเป็นปริศนา
- ของเสียอันตรายที่เหลือยังไม่ถูกขนย้ายออกไป (3 พ.ย.2566)
- จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นคนแรกที่ชาวบ้านให้การยอมรับ ได้ขออนุมัติเงินจากคณะรัฐมนตรี 59 ล้านบาท เพื่อใช้ขนย้ายของเสียอันตรายส่วนที่อยู่บนดินออกไปก่อน และต้องไปฟ้องร้องเรียกเก็บเงินจากโรงงานในภายหลัง
- ยังต้องเตรียมงบประมาณ เพื่อสำรวจและประเมินราคาค่ากำจัดของเสียอันตรายที่ถูกฝังไว้ใต้ดิน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่า มีราคาสูงกว่าส่วนที่อยู่บบนดิน
ในขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบ จ.ราชบุรี ชนะคดี แต่ยังมองไม่เห็นความยุติธรรม ... อีกหนึ่งพื้นที่ ก็กำลังจะมีเรื่องราวซ้ำรอยเดียวกันเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ คือ
ชุมชนหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
ความยุติธรรมที่กำลังจะถูกฝังกลบ
ชำนัญ ศิริรักษ์ เป็นทนายความที่เชี่ยวชาญในคดีสิ่งแวดล้อม หนึ่งในทีมทนายความคดีประวัติศาสตร์ ที่ว่าความให้ชาวบ้าน ต.น้ำพุ ชนะคดีต่อ บริษัท แว็กซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด และต่อมาได้ร่วมงานกับมูลนิธิบูรณะนิเวศอีกครั้ง อาสารับทำคดีเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง ที่หนองพะวา
เรื่องราวที่หนองพะวา มีเนื้อเรื่องเหมือนกับที่ราชบุรี ราวกับถูกคัดลอกมา เมื่อมีโรงงานชื่อว่า "วิน โพรเสส" มาตั้งขึ้นในพื้นที่เมื่อปี 2553 โดยมีความพยายามจะขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภท "คัดแยกขยะ" หรือที่เรียกกันว่า โรงงานลำดับที่ 105 แต่ถูกคัดค้านจากชาวบ้านจึงไม่ได้รับใบอนุญาต แต่อาคารของโรงงานก็ยังตั้งอยู่มาได้เรื่อยๆ ต่อมาปี 2557 วิน โพรเสส ก็ถูกร้องเรียนว่านำของเสียจากนอกพื้นที่มาลักลอบฝังกลบไว้ในบริเวณโรงงานเพราะมีกลิ่นเหม็นกระจายออกไปในชุมชน มีหน่วยงานมาตรวจสอบและขุดพบการฝังกลบของเสียจริง
และแม้จะถูกตรวจสอบว่าทำความผิดมาแล้ว แต่ในปี 2560 วิน โพรเสส กลับได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 2 ใบ คือ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 40 (บดอัดกระดาษ) และลำดับที่ 60 (หล่อหลอมโลหะ) ได้สถานะความเป็นโรงงานตามกฎหมาย
ความเสียหายจุดสำคัญของหนองพะวาที่ทนายชำนัญ นำมาฟ้องร้องคดีต่อ วิน โพรเสส คือ สวนยางพาราของ "เทียบ สมานมิตร" ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ติดกับรั้วและบ่อน้ำของโรงงานโดยมีสิ่งที่คั่นไว้เป็นเพียง "คันดิน" เท่านั้น
ตั้งแต่ปี 2560 ยางพาราในสวนของเทียบ เริ่มให้น้ำยางน้อยลงเรื่อยๆ ต้นยางที่อยู่ใกล้กับโรงงานก็ทยอยตายลงไป ยืนต้นตายเกือบหมดในปี 2563 และตายหมดรวม 30 ไร่ในที่สุด จากนั้นจึงมีการสำรวจความเสียหายที่ลุกลามออกไปยังพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านคนอื่นๆ อีกเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบถึง 200 ไร่ ลำธารและแหล่งน้ำในบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นน้ำตาลข้น มีฟองอากาศ ปนเปื้อนด้วยสารเคมีทั้งหมด
ชาวบ้านหนองพะวา ตั้งสมมติฐานถึงสาเหตุของการปนเปื้อนว่ามาจากโรงงานวิน โพรเสส เพราะตลอดหลายปีที่โรงงานมาตั้งอยู่ ชาวบ้านพบเห็นการขนย้ายถังบรรจุสารเคมีจากที่อื่นเข้ามาที่โรงงานแห่งนี้อยู่เป็นระยะ แต่ไม่เคยถูกขนกลับออกไปเลย และเมื่อมีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบก็จะพบทั้งถังขนาด 200 ลิตร ถังขนาด 1000 ลิตร และกองเศษตะกอนน้ำมันใช้แล้ววางทิ้งอยู่ในโรงงานจำนวนมากทั้งในโรงเรือน นอกโรงเรือน หรือแม้แต่ถูกกองไว้วางกลางแจ้งโดยไม่มีผ้าใบคลุม ซึ่งของทั้งหมดนี้ถูกระบุในภายหลังว่าเป็น "กากของเสียอันตราย"
กล่าวคือ มี "กากของเสียอันตราย" จำนวนมาก อยู่ในโรงงานที่ใช้ใบอนุญาตเป็นโรงงานบดอัดกระดาษและหล่อหลอมเหล็ก ซึ่งเป็นกิจการที่ "ไม่ต้องใช้" และ "ไม่ควรมี" ของเสียอันตรายพวกนี้ไว้ในครอบครองเลย และที่น่าตกใจกว่านั้น คือ เราอาจไม่สามารถเรียก วิน โพรเสส ว่าโรงงานได้ด้วยซ้ำ เพราะไม่มีเครื่องจักรแม้แต่ชิ้นเดียวที่จะประกอบกิจการโรงงาน ที่นี่จึงดูเหมือน จุดทิ้งขยะอันตราย มากกว่าที่จะเป็นโรงงาน
"ที่ทำให้ชาวบ้านรับไม่ได้มาตลอด เมื่อมีเจ้าหน้าที่ของอุตสาหกรรมจังหวัดระยองเข้าไปตรวจสอบ ก็มักจะให้คำตอบว่า มีคำสั่งให้โรงงาน ปิดปรับปรุงชั่วคราวไปแล้ว ... ทั้งที่ทุกคนต่างก็รู้ว่า โรงงานนี้ปรับปรุงไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องจักรอะไรเลย เป็นแค่ถังขยะขนาดใหญ่เท่านั้น กว่าเจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายกับโรงงาน ก็ต้องผ่านการตรวจสอบตั้ง 3 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นก็เพราะเรื่องมันแดงจากการถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนออกไป ทั้งที่โรงงานนี้ ไม่มีสิทธิครอบครองวัตถุอันตรายทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่เข้าไปเจอตั้งแต่แรกแล้ว" ทนายชำนัญกล่าว
หลังความเดือดร้อนถูกนำเสนอผ่านสื่อ พร้อมกับการถูกตั้งคำถามถึงความผิดปกติในการกำกับดูแล โรงงานวิน โพรเสส จนกลายเป็นข่าวใหญ่ ซึ่งแม้แต่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในขณะนั้น ก็ยังลงพื้นที่มาตรวจสอบ ทำให้เจ้าของ วิน โพรเสส ชิงประกาศปิดกิจการของตัวเองลงไปก่อนที่จะมีคำสั่งใดๆ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมเป็นเวลาในการต่อสู้ยาวนานถึงกว่า 10 ปี ส่วนกระบวนการเก็บข้อมูลสำรวจความเสียหายเพื่อฟ้องร้องก็เริ่มดำเนินการขึ้นเช่นเดียวกัน
และเรื่องราวต่อจากนั้น ก็ไม่ต่างกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นใน ต.น้ำพุ จ.ราชบุรี
บอกชาวหนองพะวาไว้ก่อนเลยว่า การฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยเยียวยาจาก วิน โพรเสส ในที่สุดแล้ว เราอาจจะเป็นผู้ชนะคดีที่ไม่ได้ค่าชดเชย เหมือนที่มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับคดีแว็กซ์ กาเบ็จ
ทนายชำนัญ บอกว่า เมื่อเข้าใจตรงกันจึงมีชาวบ้านที่ตัดสินใจฟ้องร้องเหลือ 15 คน แต่ไม่ได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเพราะเป็นรูปแบบที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาลค่อนข้างแพง ยอมรับว่า มีชาวบ้านบางคนที่ถอนตัวไป ก็เข้าใจ เพราะการฟ้องร้องมีราคาที่ต้องจ่าย เสียเวลาทำงาน เสียค่าเดินทาง เหนื่อย แต่อาจไม่ได้อะไรกลับมา
"ถ้าฟ้องคดีแบบกลุ่ม จะมีค่าธรรมเนียมศาล 2 % ของจำนวนเงินที่เรียกร้องไป แม้จะมีช่องทางขอให้ศาลยกเว้นได้ แต่กระบวนการค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลามาก ที่ต.หนองพะวา หากรวบรวมเฉพาะค่าเสียหายของ 15 คนที่ยืนยันจะฟ้องได้รวมกันเกือบ 48 ล้านบาท ถ้าฟ้องแบบกลุ่มเราจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาลไปก่อน 200,000 บาท"
ในฐานะทนายอาสา "ชำนัญ" มีคำถามว่า แล้วใครจะเป็นคนจ่าย เพราะมีบทเรียนจากกรณี แว็กซ์ กาเบ็จ แล้วว่า แม้จะชนะคดี สามารถเรียกเงินส่วนนี้คืนได้ แต่โรงงานบอก ไม่มีเงิน ก็ไม่จ่าย กลายเป็นว่า ผู้เสียหายต้องดิ้นรนฟ้องร้องและเก็บหลักฐานเอง และยังมีค่าใช้จ่ายในการฟ้องทางแพ่งที่ค่อนข้างสูง ขณะที่โอกาสจะได้เงินคืนกลับมองแทบไม่เห็น ชาวบ้าน 15 คนที่ยืนยันจะฟ้อง จึงต้องฟ้องแยกเป็นรายบุคคลไป เพราะขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้ง่ายกว่า
13 ธันวาคม 2565 ศาลจังหวัดระยอง อ่านคำพิพาก ษาที่ชาวบ้านหนองพะวา 15 คน ยื่นฟ้องต่อ บริษัทวิน โพรเสส จำกัด และกรรมการบริษัทอีก 2 คน โดยให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ทั้ง 15 คน รวมเป็นเงินกว่า 20.8 ล้านบาท (เทียบ สมานมิตร สวนยางพารา 30 ไร่เสียหายหมด พิพากษาให้ชดเชย 5.32 ล้านบาท) ตามมูลค่าความเสียหายที่ได้รับ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องคือ 7 มิถุนายน 2564
และมีคำสั่งให้จำเลยทั้ง 3 ต้องร่วมกันดำเนินการป้อง กันไม่ให้มีสารเคมีหรือวัตถุอันตรายปนเปื้อนออกมาอีก ต้องปรับปรุงสภาพที่ดินของโจทก์ทั้ง 15 คน ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ และต้องไปรับผิดชอบฟื้นฟูที่ดินและลำรางสาธารณะให้กลับสู่สภาพเดิม
แต่วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2566) เกือบครบ 1 ปีที่มีคำพิพากษาแล้ว ชาวหนองพะวาทั้ง 15 คน ยังไม่มีใครได้รับเงินชดเชยตามคำพิพากษา ที่ดิน แหล่งน้ำ ลำรางสาธารณะยังไม่ถูกฟื้นฟู ของเสียอันตรายที่เป็นสาเหตุของการปนเปื้อนยังไม่ถูกนำออกไปกำจัดอย่างถูกต้อง และการรั่วซึมของสารเคมียังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิน โพรเสส ให้เหตุผลเพียงว่า "ไม่มีเงิน"
ชำนัญ บอกว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครได้ค่าชดเชย โรงงานอ้างไม่มีเงิน ไม่ต่างจากที่ จ.ราชบุรี กระบวนการทางกฎหมายเปิดให้ตรวจสอบทรัพย์สินจำเลยกับทางธนาคารเพื่อนำทรัพย์สินมาชดเชยให้ผู้เสียหาย แต่ดูเหมือนจะพบแต่หนี้สิน แบบนี้คงพูดไม่ได้ว่า ชาวบ้านได้รับความยุติธรรม
ค่ากำจัดของเสียของที่นี่ถูกประเมินไว้ในหลักร้อยล้านบาท ส่วนความเสียหายต่อที่ดิน แหล่งน้ำ เป็นวงกว้างกว่าที่ จ.ราชบุรี บอกได้ว่า ถ้าจะนำของเสียไปกำจัดหรือฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจริงๆ ก็คงต้องขออนุมัติงบประมาณของรัฐ หรือใช้เงินภาษีของเรามาแก้ปัญหาความเสียหายที่โรงงานนี้ก่อไว้ไปก่อนอีกเช่นกัน
"หน่วยงานรัฐบอกว่า เอาเงินหลวงมาช่วยชาวบ้านก่อนแล้วค่อยไปฟ้องเรียกคืนจากโรงงาน ผมเห็นด้วยนะที่ต้องช่วยชาวบ้านก่อน แต่มองไม่เห็นเลยว่าจะเรียกเงินคืนจากโรงงานได้อย่างไร เพราะแค่เงินค่าชดเชยให้ชาวบ้านซึ่งน้อยกว่าค่ากำจัดหรือฟื้นฟูตั้งเยอะ เขายังไม่ยอมจ่ายเลย"
ชำนัญ บอกว่า ในฐานะที่เป็นทนายความของทั้ง 2 คดี จึงเห็นว่า ถึงเวลาที่ภาครัฐจะต้องนำบทเรียนจากทั้ง 2 พื้นที่นี้มาเป็นต้นแบบในการแก้ไขกฎหมาย โดยมีข้อเสนอ 2 ประเด็น
ประเด็นแรก ทั้ง 2 พื้นที่เกิดปัญหามายาวนานนับ 10 – 20 ปี ชาวบ้านร้องเรียนมาตลอด เจ้าหน้าที่ของรัฐก็รู้ปัญหา แต่ปล่อยปละละเลยอ้างว่าสั่งให้ปรับปรุงแล้วจนความเสียหายลุกลามบานปลายเกินกว่าจะแก้ไขได้
ชาวบ้านเหมือนตายทั้งเป็น สิ่งแวดล้อมก็ไม่สามารถฟื้นคืนมาได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวอีกจึงควรมีกฎหมายกำหนดบทลงโทษและความรับผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลพื้นที่เช่นนี้ไว้ด้วย ให้มากกว่าความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น
ส่วนประเด็นที่สอง คือ ควรออกกฎหมายบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีกิจการก่อให้เกิดของเสียอันตราย หรือรับกำจัด หรือบำบัดของเสียอันตรายต้องทำประกันกับบริษัทประกันเอกชนก่อนได้ใบอนุญาต
โดยมีเงื่อนไขว่า หากโรงงานทำให้เกิดมลพิษหรือการปนเปื้อน บริษัทประกันก็จะต้องรับผิดชอบทั้งค่าเสียหายและค่ากำจัดของเสีย ซึ่งเงื่อนไขนี้จะทำให้บริษัทประกัน กลายเป็นหนึ่งในกลไกการกำกับดูแลตรวจสอบการดำเนินกิจการของโรงงานไปด้วย
จากเดิมที่เห็นกันแล้วว่ากลไกการกำกับดูแลของกรมโรงงานฯ หรือ อุตสาหกรรมจังหวัด ขาดประสิทธิภาพ จึงควรกำหนดไว้ในกฎหมายว่า หากโรงงานใดทำผิดเงื่อนไขจนบริษัทประกันขอถอนประกัน โรงงานนั้นก็จะต้องคืนใบอนุญาตทันที
"ต้องยอมรับว่า เมื่อเกิดความเสียหายจากการลักลอบทิ้งของเสียอันตราย ทำให้กระบวนการยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน ถูกฝังกลบไปพร้อมของกากของเสียพวกนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์แล้วว่า เรามีกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนกลุ่มนี้ได้เลย"
"ก็ต้องปรับเปลี่ยนได้แล้ว จริงหรือไม่" ทนายชำนัญ ตั้งคำถาม
รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา