วันนี้ (9 พ.ย.66) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการตรวจความพร้อมโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพ ช่วงแคราย-มีนบุรี ว่า ภายในเดือนนี้ (พ.ย.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะเข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) โดยขณะนี้ภาพรวมของทั้งโครงการมีความก้าวหน้าอยู่ที่ร้อยละ 99 ส่วนอีกร้อยละ 1 ยังต้องเก็บงานให้เรียบร้อย
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัมปทาน รวมถึงการทดสอบการเดินรถในแต่ละระยะอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่จะเข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริงในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ขณะที่อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 15 - 45 บ. หรือตกสถานีละ 1.50 บ.
อ่านข่าว รถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดทดลองนั่ง พ.ย. เริ่มเก็บค่าโดยสาร 18 ธ.ค.
ขณะที่จุดเชื่อมต่อผู้ใช้บริการจะต้องเดินทางเชื่อมต่อภายในระยะเวลา 30 นาที ซึ่งโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู มีจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ เช่น สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเชื่อมต่อกับ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PP11) ของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง โดยเป็นการเชื่อมต่อประเภท Unpaid to Unpaid Area ระหว่างชั้นออกบัตรโดยสาร (Concourse Level) ของ 2 สถานี มีทางเดินเชื่อมต่อ (Skywalk) และทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ระยะทางประมาณ 346 ม.
ส่วนสถานีหลักสี่ (PK14) เชื่อมต่อกับ สถานีหลักสี่ (RN06) ของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยเป็นการเชื่อมต่อประเภท Unpaid to Unpaid Area จากชั้นออกบัตรโดยสารของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ที่ระดับดิน ใช้สะพานลอยคนข้ามไปยังชั้นออกบัตรโดยสารของรถไฟชานเมือง มีระยะทางเดินเชื่อมต่อประมาณ 180 ม.
สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) เชื่อมต่อกับ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต เป็นการเชื่อมต่อประเภท Paid to Paid Area
อ่านข่าว เริ่มวันนี้! รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นำร่อง 2 เส้นทาง
สำหรับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู ถือว่า ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนกำหนดการประมาณ 6 - 7 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่มาใช้บริการ พร้อมยืนยันว่า ทางขึ้น-ลง ที่ยังมีปัญหาอยู่จะสามารถแล้วเสร็จได้ทันตามกำหนดการเปิดใช้บริการ
ส่วนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น รมช.คมนาคม ยืนยันว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าว่าจะต้องดำเนินการให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บ.ตลอดสายภายใน 2 ปี ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการฯ ที่จะต้องหารือกับเอกชนผู้รับสัมปทานอยู่ระหว่างการพิจารณาของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการของบริษัท กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า รถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 100,000 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ว่า จะมีผู้โดยสารประมาณ 200,000 คน โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสาร 200,000 คน ได้ในปี 2568 เนื่องจากเปิดใช้งานส่วนต่อขยายเข้าไปในเมืองทองธานี พร้อมคาดว่า รถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู จะมีผู้โดยสารมากกว่ารถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลืองเพราะบริเวณสถานีใกล้กับศูนย์การค้าขนาดใหญ่และศูนย์ราชการ
อ่านข่าว เคาะแน่! รถไฟฟ้า 20 บาทนำร่องสายสีแดง คาดเริ่ม 14 ต.ค.นี้
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลืองช่วง ลาดพร้าว-สำโรง ขณะนี้มีผู้โดยสารประมาณ 40,000 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ว่ามีผู้โดยสารวันละ 200,000 คน โดยมองว่า จำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ มาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ปรับพฤติกรรมการเดินทางและการใช้ชีวิต
อ่านข่าว คาดเปิดบริการ "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" เข้าเมืองทองฯ ปี 67-68
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขณะนี้ตลอดทั้งสาย มีผู้โดยสารทั้งระบบรวมส่วนต่อขยายประมาณ 900,000 คนต่อวัน แต่ยังน้อยกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณเกือบ 1,000,000 คนต่อวัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นยังไม่เปิดให้บริการส่วนต่อขยาย
ทั้งนี้เฉพาะในส่วนการให้บริการที่ไม่มีส่วนต่อขยาย ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการแล้วกว่าร้อยละ 80 เท่านั้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่นิยมใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสยังกลับเข้ามาไม่มาก และพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนเปลี่ยนไปหลังโควิด-19
อ่านข่าว บอร์ด รฟท.เห็นชอบ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
สำหรับนโยบายของรัฐบาล เรื่องการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย นายสุรพงษ์ยืนยันว่า จนถึงขณะนี้กระทรวงคมนาคม ยังไม่ได้ติดต่อมาขอเจรจากับ BTSC และยืนยันว่า บริษัทฯ พร้อมที่จะหารือกับรัฐบาลและเตรียมแนวทางที่จะเจรจาไว้อยู่แล้ว แต่ขอให้เน้นข้อเท็จจริงแบบตรงไปตรงมา
รวมถึงวิธีดำเนินการว่าจะเป็นในรูปแบบใน แต่ที่สำคัญคือ รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปตามความเป็นจริง และหากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นก็จ่ายลดลงตามสัดส่วนที่หายไป
อ่านข่าว กทม.ชงมหาดไทยทบทวน ม.44 ปมสัมปทานบีทีเอส
สำหรับภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ BTSC นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้มียอดหนี้รวมกว่า 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ประมาณ 23,000 ล้านบาท และ หนี้ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) จ้าง BTSC เดินรถ ประมาณ 30,000 ล้านบาท ล่าสุดทราบว่า กทม.อยู่ระหว่างพิจารณาหาแนวทางการชำระหนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม
ส่วนกระแสข่าวที่ว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร เตรียมลงนามในประกาศกรุงเทพมหานครว่าด้วยเรื่องการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งจาก กทม. แต่หาก กทม.ลงนามแล้ว ตามกฎหมาย จะมีผลบังคับใช้ภายใน 30 วัน เพื่อให้เวลาในการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงก่อน ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายแล้วก็หวังว่าทาง กทม.จะแบ่งรายได้มาจ่ายหนี้ให้ BTSC เพื่อให้หนี้ที่มีอยู่ลดลงบ้าง
อ่านข่าว "คมนาคม" หารือเดินหน้า รถไฟฟ้า 20 บ.ตลอดสาย นำร่องสายสีม่วง-สีแดง
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า ปัจจุบันค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส เริ่มต้น 17 บาทและสูงสุด 47 บาท แต่หากมีการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายอีก 15 บาท จะรวมเป็นสูงสุดไม่เกิน 62 บาทตลอดสาย คาดว่าจะสามารถเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายได้อย่างเร็วสุดช่วงกลางเดือน ธ.ค. หรืออย่างช้า เดือน ม.ค.67