กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler Space Telescope) ขององค์การนาซา (NASA) ถูกปลดระวางจากการสำรวจหลักเมื่อปี 2013 และสิ้นสุดภารกิจส่วนต่อขยายเมื่อปี 2018 หลังจากที่เชื้อเพลิงบนยานหมดลง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของกล้องฯ เคปเลอร์ นั้นยังคงถูกวิเคราะห์เรื่อยมาโดยนักวิทยาศาสตร์ และนำไปสู่การค้นพบระบบดาวนอกระบบและดาวเคราะห์นอกระบบ (Exoplanet) เป็นจำนวนมาก
หนึ่งในระบบดาวที่กล้องฯ เคปเลอร์ เจอก็คือ ระบบดาว Kepler-35 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในระบบดาวที่ข้อมูลของระบบที่วิเคราะห์มีความแม่นยำมากที่สุด
ลักษณะการทำงานของกล้องฯ เคปเลอร์
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ เริ่มต้นการสำรวจอวกาศในปี 2009 โดยมีภารกิจหลักคือการสำรวจหาดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกและมีวงโคจรอยู่ในเขตที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต ตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน โยฮันเนิส เค็พเพลอร์ (Johannes Kepler) บิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่
ฐานข้อมูลการสำรวจของกล้องฯ เคปเลอร์ สำรวจดาวฤกษ์ไปทั้งหมด 530,506 ดวง ปัจจุบัน พบดาวเคราะห์นอกระบบที่ยืนยันแล้วกว่า 2,778 ดวง
New Kepler Planet Candidates
ข้อมูลจากกล้องฯ เคปเลอร์ ณ วันที่ มิถุนายน 2017 พบวัตถุที่น่าจะเป็นดาวเคราะห์มากกว่า 4,034 ดวง โดยภายในกราฟนี้ จุดสีน้ำเงินหมายถึง Candidate ดาวเคราะห์นอกระบบที่รู้จักอยู่แล้ว และจุดสีเหลืองหมายถึง Candidate ดาวเคราะห์นอกระบบใหม่ แบ่งแยกตามขนาดสัมพัทธ์ของดาวเคราะห์เทียบกับขนาดของโลก ดาวเนปจูน และดาวพฤหัสฯ
ภาพจำลองระบบดาว Kepler-385
ระบบดาว Kepler-385 มีดาวฤกษ์ขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 10% และร้อนกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 5% มีดาวเคราะห์โคจรอยู่ทั้งหมด 7 ดวง โดยดาวเคราะห์ 2 ดวงภายในนั้นน่าจะมีขนาดใหญ่กว่าโลก มีพื้นผิวเป็นหิน และน่าจะมีชั้นบรรยากาศบาง ๆ อยู่ ส่วนอีก 5 ดวงนั้นมีรัศมีเป็นสองเท่าของโลก และมีชั้นบรรยากาศปกคลุมหนาแน่น
ภาพจำลองดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ในระบบ Kepler-385
ภาพจำลองของดาวเคราะห์นอกระบบสองดวงในระบบดาว Kepler-385 สร้างขึ้นจากข้อมูลที่เรียกได้ว่าแม่นยำเท่าที่จะเป็นไปได้เมื่อเทียบกับดาวเคราะห์นอกระบบอื่น ๆ ที่เคยสำรวจมา ทั้งนี้เป็นผลมาจากการใช้วิธีในการตรวจจับและวัดค่าทางด้านดาราศาสตร์ที่แม่นยำขึ้นกว่าเดิม
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech