ยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) และจรวดนำส่งขนาดใหญ่ที่ชื่อว่าซูเปอร์เฮฟวี (Super Heavy) นั้น เป็นระบบนำส่งรุ่นล่าสุดของสเปซเอ็กซ์ ซึ่งเป็นยานอวกาศเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับสัญญาการนำส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่ดวงจันทร์จากองค์การนาซา สำหรับโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) อย่างไรก็ตามยานอวกาศรุ่นดังกล่าวยังไม่เคยถูกส่งขึ้นแตะขอบอวกาศเลยแม้แต่ครั้งเดียว แม้จะมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอดห้าปีที่ผ่านมา
ต้นเดือนพฤศจิกายน 2023 บริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ได้ออกมาประกาศผ่านเว็บไซต์ว่าได้รับไฟเขียวจาก องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ให้สามารถทดสอบสตาร์ชิปในลักษณะเที่ยวบินบนวงโคจร ได้อีกครั้ง หลังจากการทดสอบรอบก่อนในเดือนเมษายน 2023 จบลงด้วยความล้มเหลวในขณะตัวจรวดบินขึ้นจนระบบจุดระเบิดฉุกเฉินต้องจุดระเบิดตัวเองเพื่อให้ยานแยกตัวออกจากกันด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย จนปรากฏเป็นลูกไฟยักษ์บนท้องฟ้า
การทดสอบรอบใหม่นี้ตั้งเป้าไว้เป็นวันที่ 17 พฤศจิกายน 2023 ซึ่งจะใกล้เคียงกับการทดสอบในรอบก่อน คือยานสตาร์ชิปจะบินขึ้นจากฐานปล่อยในรัฐเท็กซัสของสเปซเอ็กซ์ ก่อนที่จะใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงในการโคจรรอบโลกประมาณหนึ่งส่วนสี่รอบ ณ ความสูงสูงสุดที่ 230 กิโลเมตร และลงจอดนอกชายฝั่งเกาะฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมระยะเวลาทดสอบทั้งหมดไม่เกินสองชั่วโมงเพียงเท่านั้น
ในโอกาสนี้สเปซเอ็กซ์ได้นำเอาเทคโนโลยีใหม่ได้แก่ ระบบการควบคุมทิศทางไอพ่นจรวดแบบไฟฟ้ามาใช้แทนที่ระบบควบคุมด้วยไฮดรอลิกแบบเดิม ซึ่งสเปซเอ็กซ์กล่าวว่า จะช่วยประหยัดพลังงานและลดโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้มากกว่า
หากการทดสอบรอบนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้สเปซเอ็กซ์ เดินหน้าโครงการได้ต่อ ในขณะที่นาฬิกานับถอยหลังของโครงการอาร์ทิมิสก็ยังคงดำเนินต่อไป ปัจจุบันนาซายังคงตั้งเป้าที่จะลงจอดนักบินอวกาศกลุ่มแรกบนพื้นผิวดวงจันทร์ให้ได้ทันปี 2025 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเลื่อนออกไปหนึ่งปีจากปี 2024 ซึ่งจะกลายเป็นปีที่นักบินอวกาศกลุ่มแรกในภารกิจอาร์ทิมิส 2 เดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ในภารกิจทดสอบ ซึ่งจะใช้เพียงแค่ยานอวกาศโอไรออนเพียงเท่านั้น ยังไม่มีการใช้งานยานสตาร์ชิป
ที่มาภาพ: SpaceX
ที่มาข้อมูล: SpaceX
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech