ปกติแล้วในการติดต่อสื่อสารกับยานอวกาศที่ทำงานในอวกาศห้วงลึก (Deep Space) จะทำผ่านระบบเครือข่ายที่ชื่อว่า Deep Space Network หรือตัวย่อว่า DSN ซึ่งเป็นการนำเอาสถานีรับสัญญาณ 3 สถานี ณ แต่ละมุมของโลก ได้แก่ เมืองโกลด์สโตน ประเทศสหรัฐอเมริกา, กรุงแคนเบอรา ประเทศออสเตรเลีย และกรุงมาดริด ประเทศสเปน มาทำงานร่วมกัน สาเหตุก็เพราะนาซา จะได้สามารถติดต่อกับยานอวกาศได้ ณ ทุกซีกฟ้าของโลก ตลอด 24 ชั่วโมงนั่นเอง
ยานอวกาศที่ทำงานผ่านระบบ Deep Space Network นั้นก็เช่น ยานอวกาศวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 และยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ ที่เดินทางออกนอกระบบสุริยะ ยานอวกาศจูโนที่กำลังสำรวจดาวพฤหัสบดี หรือยานอวกาศกลุ่มสำรวจดาวอังคารเช่น เพอร์เซเวียแรนซ์ คิวริออซิตี มาร์สรีคอนเนสเซนซ์ออร์บิเตอร์ หรือแม้กระทั่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ก็ติดต่อสื่อสารกับโลกผ่านระบบ DSN ด้วยเช่นกัน
นาซาได้เปิดเว็บไซต์ DSN Now (https://eyes.nasa.gov/dsn/) ให้ทุกคนสามารถเข้าไปชมได้ว่าปัจจุบัน จานแต่ละตำแหน่งในเครือข่าย DSN กำลังอัปโหลดและดาวน์โหลดข้อมูลให้กับยานอวกาศลำไหนอยู่ ที่ระยะเท่าไร อัตราการส่งข้อมูลเท่าไร รวมถึงข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ เช่น องศาการหันของจาน ไปจนถึงความเร็วลม ณ ตำแหน่งของจาน
เราสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้บอกตำแหน่งยานอวกาศต่าง ๆ บนซีกฟ้าได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นประเทศไทย อยู่ในซีกฟ้าที่ใกล้เคียงกับซีกฟ้าที่จานรับสัญญาณ ณ กรุงแคนเบอรา ประเทศออสเตรเลียเห็น จึงกล่าวได้ว่า หากจานรับสัญญาณ DSN กำลังติดต่อกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ นั่นหมายความว่ากล้องเจมส์ เวบบ์ ก็กำลังอยู่ในซีกฟ้าเดียวกับเรานั่นเอง
หรือแม้กระทั่งตำแหน่งและระยะทางของยานวอยเอจเจอร์ทั้งสอง ที่ปัจจุบันสามารถรับส่งข้อมูลได้ที่อัตราการรับส่งหลักหน่วยบิตต่อวินาทีเท่านั้น จากระยะอันห่างไกลระหว่างยานอวกาศกับโลก
เว็บไซต์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์แวร์ชุด NASA Eyes ที่พัฒนาขึ้นมาโดยหน่วยงาน Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL ที่มักจะให้ความสำคัญด้านการทำสื่อวิทยาศาสตร์สำหรับบุคคลทั่วไปได้รับชมการทำงานของนาซา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้กับภาคประชาชน
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech