การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องรีบออกมาแถลงผ่านเฟซบุ๊ก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อค่ำของวันที่ 19 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา หลังเจอขบวนรถทัวร์แห่จอดเต็มรางรถไฟเกี่ยวกับประเด็น การประกาศขยายเวลาจองตั๋วล่วงหน้า 90 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ (20 พ.ย.)
อ่าน : การรถไฟฯ ขยายเวลาจองตั๋วล่วงหน้า 90 วัน เริ่ม 20 พ.ย.นี้
แม้จะขมวดปมให้กระชับและพยายามสร้างความเข้าใจมากขึ้น โดยยืนยันว่า ในขั้นตอนของการจองตั๋ว เพียงให้ผู้โดยสารแจ้งสถานีต้นทาง-ปลายทาง แก่เจ้าหน้าที่ ก็จะสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ทันที หรือ จองผ่านระบบออนไลน์ D-Ticket ระบบจะคำนวณรายละเอียดการจองให้รับทราบทันทีว่า สามารถจองได้ล่วงหน้าสูงสุดได้กี่วัน
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าระบบนี้จะไม่สร้างความลำบากแก่ผู้ใช้บริการแต่อย่างใด
อ่าน : การรถไฟฯ แจงภาพการเปิดจองตั๋วล่วงหน้า ทำประชาชนสับสน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ยังได้รับข้อมูลจากชาวเน็ต และ ประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หลากหลายข้อสงสัยจากชาวบ้าน คนชราที่ใช้การเดินทางด้วยรถไฟเป็นหลัก เช่น
ระยะทางระหว่างจังหวัด
นายปัญญา ข้าราชการเกษียณชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี แสดงความกังวลเรื่องระยะทางระหว่างจังหวัดไว้ว่า ตนไม่รู้ว่า จ.สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ ตามแนวทางรถไฟห่างกันกี่กิโลเมตร ทุกครั้งที่เดินทางไปหาครอบครัวลูกสาวที่ กทม. จะนั่งรถไฟที่สถานีพุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี แต่บางครั้งต้องแวะหาน้องเขยที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายปัญญาก็ต้องเดินทางจาก พุนพินปลายทางหัวหิน
คำถามที่ รฟท. ตอบได้คือ ให้เช็กในเว็บไซต์หรือถามเจ้าหน้าที่การรถไฟ แต่มุมมองของคนชรา อายุ 78 ปี มองว่า เขาไม่สามารถเข้าถึงโลกอินเตอร์เน็ตได้อย่างแน่นอน สิ่งที่ทำได้คือต้องนั่งรถโดยสารไปสถานีรถไฟแล้วถามเองโดยตรง
ถ้าต้องไป กทม. หรือบางครั้งไปหัวหิน ต้องไปซื้อตั๋วล่วงหน้ากี่วัน ในกรณีที่ต้นทางคือ จ.สุราษฎร์ธานี
นายปัญญา สะท้อนว่า ปัญหาของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละจังหวัดมีระยะห่างกันเท่าไหร่ เพื่อที่พวกเขาจะได้คำนวนคร่าวๆ ว่าต้องเดินทางมาซื้อตั๋วรถไฟกันวันไหน ผู้โดยสารบางคนไม่สามารถซื้อตั๋วผ่านเว็บไซต์ หรือ โทรจองได้ เพราะใช้สิทธิข้าราชการในการซื้อตั๋ว ต้องไปแสดงบัตรต่อหน้าเจ้าหน้าที่เท่านั้น
สิทธิข้าราชการ-สวัสดิการแห่งรัฐ
เช่นเดียวกับ นางมาลี แม่บ้านวัย 68 ปีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เธอเล่าว่าเธอใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อตั๋วรถไฟเดินทางระหว่าง เชียงใหม่-กรุงเทพฯ เป็นประจำ โดยในบัตรจะมีวงเงิน 750 บาท ใช้จ่ายแทนค่าโดยสาร และหากมีส่วนเกินเท่าใด เธอก็จ่ายเพิ่มเพียงหลักสิบ หลักร้อยนิดๆ แต่การใช้บัตรฯ ซื้อตั๋วรถไฟจะมีเงื่อนไขตรงที่ว่า
ซื้อตั๋วเดือนไหน ต้องเดินทางเดือนนั้น เท่านั้น
คำถามของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคือ แล้วเธอจะสามารถใช้สิทธิซื้อตั๋วรถไฟล่วงหน้า 90 วันได้อย่างไร ยิ่งในช่วงเทศกาล ที่นั่งเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่นั้นเต็มหมดแล้ว หากเธอเลือกซื้อตั๋วให้ตรงเดือน ก็ต้องเสี่ยงว่าจะมีตั๋วหลงเหลือหรือไม่
แล้วถ้าตั๋วหมด ยายต้องจ่ายเต็มจำนวน มันก็ลำบากเราเองอีก
ชาวเน็ตระยะทางสั้นถามตั๋วเต็มต้องทำอย่างไร
โลกโซเชียลตั้งคำถามกลับว่า ถ้าจุดประสงค์ของ รฟท. มีเป้าหมายสำคัญเพื่อต้องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารในการเดินทาง ช่วยให้สามารถวางแผนการจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะในเส้นทางระยะไกล จะสามารถจองล่วงหน้าได้สูงสุด 90 วันนั้น
ในช่วงเทศกาลที่ตั๋วไปเชียงใหม่เต็มทุกเที่ยว ทุกขบวน ตั้งแต่ยังไม่ทันสิ้นเดือน พ.ย. คนที่จะกลับบ้านที่นครสวรรค์ หรือ พิษณุโลก (ที่อนุญาตให้จองตั๋วล่วงหน้า 30 วัน) จะมีที่นั่งหรือไม่ ?
โดยมองว่านี่คือการเสียโอกาส และความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ไม่สามารถจองตั๋วในที่นั่งและเวลาที่ต้องการหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นทางการรถไฟจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร
ยังมีคำถามจากนักท่องเที่ยวชาวไทยคนหนึ่ง ถามเผื่อนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติ ว่า หากพวกเขาแบกเป้เที่ยวกันเอง ไม่ได้ผ่านตัวแทนจำหน่ายตั๋ว แล้วต้องซื้อตั๋วกันอย่างไร
บางคนวางแผนการเที่ยวก่อนเดินทางมาไทยก็จริง แต่ก็เขียนแค่ว่า ไปจังหวัดนี้โดยรถไฟไทย สายนี้ เวลานี้ เท่านั้น ถ้า รฟท.ปล่อยตั๋วให้จองล่วงหน้าจนเกินโควตา ตั๋ว walk-in สุดท้ายนักท่องเที่ยวก็ต้องเดินทางด้วยวิธีอื่นแทน
รถไฟไม่เคยปล่อยผู้โดยสารตกรถ
แต่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ยืนยันว่า ยังคงมีรถเพียงพอต่อการให้บริการผู้โดยสารทุกคนในแต่ละเที่ยวรถ การประกาศในครั้งนี้เป็นเพียงการขยายเวลาจาก ซื้อตั๋วล่วงหน้า 30 วันเป็น 90 วันเท่านั้น หากผู้โดยสารท่านใดไม่สะดวกเดินทางในวันที่จองก็สามารถเปลี่ยนแปลงตั๋วได้ไม่เกิน 1 ครั้ง ดังนี้
- เปลี่ยนแปลงวันเดินทาง เลื่อนออกไปได้ไม่เกิน 30 วันนับถัดจากวันที่ระบุไว้ในตั๋ว และ ไม่เกินระยะเวลาที่เปิดจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า
- ตั๋วไปกลับ เปลี่ยนแปลงการเดินทางเที่ยวไปได้ 1 ครั้ง และเที่ยวกลับ 1 ครั้ง
- เปลี่ยนแปลงการเดินทาง ให้ถือเอาวัน-เวลาขบวนรถออกและสถานีต้นทางที่ระบุในตั๋วเป็นเกณฑ์ และ ต้องนำตั๋วมาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ก่อนขบวนรถออกไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หากเลยเวลาดังกล่าวข้างต้นไม่รับเปลี่ยนแปลง ไม่คืนค่าตั๋วโดยสาร และไม่รับคำร้อง การร่นการเดินทางให้ร่นเข้ามาได้โดยไม่จำกัดวัน
- ขอเลื่อนชั้นโดยสารสูงกว่าตั๋วฉบับเดิม สามารถเลื่อนที่สถานีต้นทางหรือปลายทางใดๆ ให้มีระยะทางไกลกว่าตั๋วฉบับเดิมได้ โดยชำระค่าโดยสารในส่วนที่แตกต่างกันระหว่างชั้นโดยสารเดิมให้ครบ ค่าธรรมเนียมเปลี่ยนแปลงการเดินทาง คิดตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
- ตั๋วทุกชั้น รถนั่งธรรมดา คิดคนละ 20 บาท
- ตั๋วทุกชั้น รถปรับอากาศ หรือ คนนอน คิดคนละ 50 บาท
ข้อยกเว้น ไม่เก็บค่าธรรมเนียมเปลี่ยนแปลงการเดินทาง ตั๋วรถนั่งธรรมดาทุกชั้น เฉพาะขบวนรถโดยสารธรรมดา และรถรวม เปลี่ยนแปลงเฉพาะขบวนรถซึ่งเดินทางในวันเดียวกันกับที่ระบุในตั๋ว