องค์การนาซา (NASA) ได้ออกบทความประกาศว่า “LOFTID” หรือ “Low-Earth Orbit Flight Test of An Inflatable Decelerator” ซึ่งเป็นเกราะกันความร้อนแบบพองลมนั้นผ่านการทดสอบ หลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการทดสอบปล่อย LOFTID จากอวกาศกลับมายังโลกเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 ด้วยจรวด Atlas V
เกาะกันความร้อน LOFTID บนเรือเก็บกู้
LOFTID เป็นโครงการสาธิตเทคโนโลยีเกราะกันความร้อนที่มีขนาดเบาและเล็ก สามารถพองลมเพื่อกลายเป็นเกราะกันความร้อนขนาดใหญ่ได้เมื่อต้องการ LOFTID จะไปแทนที่เกราะกันความร้อนในปัจจุบันที่แม้จะทำให้สามารถมีขนาดเล็กได้ แต่หนักกว่ามากเมื่อเทียบกับน้ำหนักของ LOFTID นอกจากนี้ LOFTID ยังมีอีกจุดประสงค์หนึ่งในการช่วยชะลอความเร็วระหว่างกลับโลกโดยอาศัยแรงต้านทางอากาศพลศาสตร์เข้ามาช่วย
LOFTID ในขณะอยู่ระหว่างการติดตั้งเพื่อทดสอบ
ในภาพนี้คือ LOFTID ในสภาพพร้อมใช้งาน ระหว่างการติดตั้ง จะมีลักษณะเป็นทรงกระบอกขนาดใหญ่ ไม่ใช่แผ่นจานขนาดใหญ่เหมือนเกราะกันความร้อนทั่วไปที่ใช้ในปัจจุบัน เมื่อต้องการใช้งาน LOFTID สามารถพองตัวออกเป็นจานขนาดใหญ่เพื่อชะลอความเร็วและปกป้องอะไรก็ตามที่ติดตั้งอยู่ข้างบนของมันจากความร้อนระหว่างการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้
ภาพระหว่างการทดสอบ LOFTID
ในภาพนี้คือ LOFTID ระหว่างการทดสอบเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 ในขณะที่ LOFTID กำลังกางตัวออกเป็นจานขนาดใหญ่ในอวกาศ หลังจากถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Atlas V ของ ULA
LOFTID ขณะทดสอบในชั้นบรรยากาศ
ในภาพนี้เราจะเห็น LOFTID ขณะกำลังแยกตัวออกจากท่อนของจรวด Atlas V เพื่อกลับสู่โลก จะเห็นได้ว่า LOFTID นั้นขยายตัวเป็นจานขนาดใหญ่ โดยมี “Payload” หรือสัมภาระที่มันจะปกป้องระหว่างการกลับสู่โลกอยู่ตรงกลาง
LOFTID ขณะลงจอดกลางมหาสมุทร
ในภาพนี้คือขณะที่ LOFTID กำลังตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางคืน หลังจากการผ่านอุณหภูมิมามากกว่า 1,400 องศาเซลเซียสและเดินทางด้วยความเร็วสูงสุดกว่า 29,000 กิโลเมตร/ชั่วโมงระหว่างการกลับสู่โลก ก่อนที่จะลดความเร็วลงเหลือเพียง 128 กิโลเมตร/ชั่วโมงด้วยตัวมันเอง จากนั้นร่มชะลอความเร็วอีกชุดจึงกางออกเพื่อหย่อน LOFTID ลงในมหาสมุทรอย่างนุ่มนวล
ภาพเผยให้เห็นโครงสร้างเบื้องหลัง LOFTID ซึ่งเกิดจากการอัดอากาศภายใน
ในภาพนี้คือระหว่างที่ทีมเก็บกู้กำลังทำการเก็บกู้เกราะกันความร้อน LOFTID หลังจากลงจอดในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางดึกอันมืดมิด จะเห็นได้ว่า LOFTID นั้นมีไฟในตัวเองสำหรับช่วยให้มองเห็นและเก็บกู้ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech