เป็นที่ถกเถียงกันในฝั่งตะวันตกว่า จริงๆ แล้ว "อิหร่าน" รู้เห็นเป็นใจมากน้อยแค่ไหนต่อการบุกโจมตีอิสราเอลของฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ อิทธิพลของอิหร่านต่อฮามาส เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ และชาติตะวันตกคงไม่อยากให้อิหร่านใช้อิทธิพลนี้ ไปผลักดันให้ฮามาสเคลื่อนไหวต่อต้านอิสราเอลรุนแรงขึ้น หรือไปทำลายบรรยากาศการเจรจาพักรบ
นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ในวงประชุมคณะกรรมการผู้ว่าการของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ซึ่งจัดขึ้นที่ออสเตรียเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว แม้สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี และ อังกฤษ จะร่วมกันประณามว่า "อิหร่าน" ไม่ให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์ในประเทศ แต่ก็ไม่ได้ออกแถลงการณ์ใดๆ อย่างเป็นทางการ
นักการทูตระดับสูงในวงประชุมนี้ เปิดเผยว่า ชาติตะวันตกไม่อยากที่จะใช้มาตรการแข็งกร้าวกับอิหร่านมากเกินไป เนื่องจากกังวลว่า การตอบโต้ของอิหร่านอาจส่งผลกระทบต่อสงครามในตะวันออกกลาง แม้ว่าผู้อำนวยการใหญ่ IAEA จะระบุว่า การตัดสินใจของอิหร่านในการถอดการรับรองผู้ตรวจสอบของ IAEA หลายคน ซึ่งรวมถึงชาวรัสเซียด้วย ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกอย่างมาก
รายงานฉบับล่าสุดของ IAEA เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ชี้ว่าอิหร่านถือครองยูเรเนียมเสริมสมรรถนะทั้งหมดมากกว่า 4,400 กก. เพิ่มขึ้นเกือบ 700 กก. ในเวลาเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจ คือ ตัวเลขนี้สูงกว่าเกณฑ์ที่มีการกำหนดในข้อตกลงนิวเคลียร์ ปี 2015 ที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" ฉีกทิ้ง ในสมัยที่เป็นผู้นำสหรัฐฯ มากกว่า 20 เท่า
ถ้าแยกออกมาเป็นแต่ละประเภท จะเห็นว่าเป็นยูเรเนียมเสริมสมรรถนะร้อยละ 20 จำนวนมากกว่า 500 กก. และที่สำคัญ คือ ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะร้อยละ 60 มีอยู่ประมาณ 128 กก. ซึ่งสามารถใช้ผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ถึง 3 ลูก หากเสริมสมรรถนะยูเรเนียมขึ้นเป็นร้อยละ 90 ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น
รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ "โจ ไบเดน" ใช้การทูตเพื่อเจรจากับอิหร่านแบบเงียบๆ มาโดยตลอด หลังจากความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศตกต่ำลงอย่างมากในสมัยของทรัมป์ หลังถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ เมื่อปี 2018 ตามมาด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ
ไม่ถึง 1 เดือน ก่อนหน้าการบุกโจมตีอิสราเอลของฮามาส ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านเริ่มพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยกาตาร์เข้ามาเป็นตัวกลางการเจรจา และทำให้ทั้ง 2 ประเทศบรรลุข้อตกลงแลกตัวนักโทษฝั่งละ 5 คนได้สำเร็จ
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังไฟเขียวให้อิหร่านโยกย้ายรายได้จากการขายน้ำมัน 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ถูกอายัดก่อนหน้านี้ ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ลดบรรยากาศตึงเครียดระหว่างสองประเทศลงไปได้ไม่น้อย และเปิดช่องให้มีการเจรจาทางตรง เพื่อหาจุดร่วมในข้อตกลงนิวเคลียร์ แต่แผนดังกล่าวก็ต้องเผชิญอุปสรรคจากการสู้รบที่เกิดขึ้นในกาซา
ความก้าวหน้าด้านนิวเคลียร์ถือเป็นเป้าหมายระยะยาวของอิหร่านและได้รับการสนับสนุนจากประชาชน โดยผลสำรวจความคิดเห็นชาวอิหร่านเมื่อปีที่แล้ว พบว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจ มองว่า อิหร่านควรพัฒนานิวเคลียร์ ทั้งในด้านพลังงานและอาวุธควบคู่กันไป ขณะที่เกินครึ่ง มองว่า ควรพัฒนาเพียงแค่พลังงานนิวเคลียร์เท่านั้น แต่มีเพียงร้อยละ 4 ที่มองว่า อิหร่านไม่ควรมีโครงการนิวเคลียร์เลย
การพัฒนานิวเคลียร์เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของอิหร่าน ซึ่งสถานการณ์โลกไม่ได้ทำให้จุดยืนนี้เปลี่ยนไป แต่อิหร่านอาจใช้สถานการณ์นั้นๆ เพื่อประโยชน์ในการต่อรอง และชาติตะวันตกเองก็อาจจะต้องเดินตามเกมนี้ด้วย แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า จะทำให้อิหร่านได้เปรียบก็ตาม
โดยในด้านหนึ่งอาจมองได้ว่า ชาติตะวันตกต้องการให้อิหร่านช่วยเจรจากับฮามาสและผ่อนคลายสถานการณ์ตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางก็เป็นได้ ซึ่งนับตั้งแต่มีการพักรบในกาซา ปรากฏว่า ไม่มีรายงานการก่อเหตุโจมตีฐานที่มั่นของทหารสหรัฐฯ ในอิรักและซีเรียอีกเลย
การสู้รบในกาซาสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกในหลายมิติ ซึ่งรวมถึงยุทธศาสตร์การทูตในตะวันออกกลาง หลังจากนี้ ต้องจับตามองการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางที่เต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบกันให้ดี
วิเคราะห์โดย : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์
อ่านข่าวเพิ่ม :
ฮามาสปล่อย 14 ตัวประกันชุดที่ 6 - ล็อตแรก 17 คน กลับถึงไทยวันนี้