คลื่นขนาดมหึมาตำนานแห่งการทำลายล้างทางทะเล เป็นภัยอันร้ายแรงต่อเรือในมหาสมุทรและแท่นจุดเจาะน้ำมัน เป็นคลื่นที่มีความสูงอย่างน้อย 2 เท่าของคลื่นที่อยู่รอบ ๆ นักวิทยาศาสตร์จึงพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลคลื่นที่มีอายุมากกว่า 700 ปี ซึ่งครอบคลุมคลื่นมากกว่าพันล้านคลื่น เพื่อพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่สามารถพยากรณ์คลื่นยักษ์ได้
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนเริ่มต้นพัฒนาระบบ AI ด้วยการป้อนข้อมูลคลื่นจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ โดยข้อมูลจะถูกรวบรวมจากทุ่น 158 แห่งทั่วโลก ซึ่งทำงานตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน นับเป็นข้อมูลที่มีอายุมากกว่า 700 ปี โดยจากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าคลื่นที่ผิดปกติเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
จากการวิเคราะห์พบว่าสาเหตุของการเกิดคลื่นยักษ์ที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดขึ้นผ่านปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการซ้อนทับเชิงเส้น โดยเมื่อระบบคลื่น 2 ระบบตัดกันและเสริมกำลังซึ่งกันและกันในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือมาบรรจบกันในทะเลในลักษณะที่เพิ่มโอกาสในการสร้างความสูงของคลื่น ตามมาด้วยการเกิดร่องน้ำลึก ทำให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดคลื่นขนาดมหึมาตามมา
ระบบ AI ทำงานแบบเรียลไทม์โดยรวบรวมข้อมูลจากทุ่น 158 แห่งทั่วโลก นำเสนอมุมมองที่ครอบคลุมเกี่ยวกับสภาพมหาสมุทรและโอกาสที่จะเผชิญกับคลื่นยักษ์ โดย AI ไม่เพียงแต่คาดการณ์ความเสี่ยงของการเผชิญหน้าคลื่นยักษ์เท่านั้น แต่ยังช่วยบริษัทขนส่งทางเรือในการเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ที่มาข้อมูล: interestingengineering, surfertoday, newatlas
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech