สมมติฐานเดิมของ "ภาวะเลือดออกในสมอง" คือ การตกเลือดอาจเชื่อมโยงกับการบาดเจ็บของหลอดเลือดในสมองถูกปัดตกไป เมื่อนักวิจัยพบว่า การทำงานร่วมกันระหว่างเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีอายุมากและเส้นเลือดฝอยในสมองอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองได้ โดยการค้นพบในครั้งนี้นักวิจัยได้ทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับกลไกเบื้องหลังที่ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง และยังค้นพบช่องทางใหม่สำหรับการรักษาอาการดังกล่าว
ทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษากระบวนการที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงที่แก่ชราหยุดนิ่งในเส้นเลือดฝอยที่อยู่ภายในสมอง จากนั้นพบว่าภาวะเลือดออกในสมองเกิดขึ้นบริเวณเซลล์เม็ดเลือดแดงหยุดนิ่ง อีกทั้งยังพบว่าภาวะเลือดออกในสมองมีความเกี่ยวข้องกับสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุในอัตราที่สูงกว่าช่วงวัยอื่น เช่น การเกิดโรคอัลไซเมอร์ ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดสมองตีบ
ถึงแม้ว่าเส้นเลือดฝอยเป็นหลอดเลือดที่เล็กที่สุดในร่างกาย โดยปกติแล้วจะมีกลไกเยื่อที่ช่วยผลักดันสิ่งอุดตันในเส้นเลือดออก แต่กลไกดังกล่าวเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพลงไปตามอายุ
ทีมนักวิจัยได้ใช้เทอร์ต-บิวทิล ไฮโดรเปอร์ออกไซด์ (Tert-butyl Hydroperoxide) ในเซลล์เม็ดเลือดแดง เพื่อทำให้เกิดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน จากนั้นเซลล์จะถูกทำเครื่องหมายด้วยฉลากเรืองแสงและฉีดเข้าไปในหนู พบว่าเซลล์เม็ดเลือดแดงติดอยู่ในเส้นเลือดฝอยในสมอง ก่อนที่จะถูกกำจัดออกผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Endothelial Erythrophagocytosis ซึ่งเมื่อเซลล์เคลื่อนตัวออกไป เซลล์อักเสบของไมโครเกลีย (Microglia) ก็ปกคลุมเซลล์เหล่านั้น ทำให้เกิดอาการตกเลือดในสมอง
การค้นพบดังกล่าวเป็นประโยชน์ในการนำไปต่อยอดเพื่อนำเสนอแนวทางใหม่ในการวิจัยและการรักษาที่มีศักยภาพ เพื่อช่วยรักษาเส้นเลือดฝอยที่แก่ชรา และป้องกันไม่ให้เซลล์ที่สูงวัยหยุดการทำงานลง
ที่มาข้อมูล: futurity, newatlas, uci, scitechdaily
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech