ในช่วงที่โรคระบาดกำลังแพร่กระจาย ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากเลื่อนการตรวจหาโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสันออกไป ซึ่งปกติแล้วการตรวจหาโรคดังกล่าวจำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลหรือคลินิกเพื่อรับการตรวจคัดกรองไขสันหลัง และการสแกน MRI ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งผู้ป่วยบางส่วนที่อยู่ในช่วงสูงวัยอาจขาดความคล่องตัวทางกายภาพ อุปกรณ์พกพาจึงตอบโจทย์และช่วยตรวจหาตัวบ่งชี้โรค หรือไบโอมาร์คเกอร์ได้ทันที ตรวจหาได้ทุกสถานที่ โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาล
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้มองหาทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ โดยดัดแปลงอุปกรณ์พกพาที่เดิมออกแบบมาเพื่อตรวจจับไวรัส SPARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ให้กลายเป็นอุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับสารประกอบไบโอมาร์คเกอร์ที่เป็นตัวบ่งชี้โรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสันได้
อุปกรณ์ดังกล่าวประกอบไปด้วยทรานซิสเตอร์ที่มีความไวสูง ซึ่งสามารถตรวจพบอะไมลอยด์เบต้าและเทาเปปไทด์ซึ่งเชื่อมโยงกับโรคอัลไซเมอร์ พร้อมด้วยโปรตีนอัลฟาไซนิวคลิอินที่เกี่ยวข้องกับโรคพาร์กินสันได้ ซึ่งการตรวจจับทางไฟฟ้าใช้งานง่ายและแม่นยำกว่าการตรวจจับทางเคมี
จากการทดสอบอุปกรณ์พกพากับตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์และพาร์กินสันที่เสียชีวิต พบว่าไบโอเซนเซอร์สามารถตรวจจับตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่เฉพาะเจาะจงสำหรับทั้ง 2 สภาวะได้อย่างแม่นยำเทียบเท่าเทคนิคการทดสอบที่ทันสมัยและมีมาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ในขั้นตอนถัดไปนักวิทยาศาสตร์วางแผนที่จะทดสอบเลือดและน้ำไขสันหลังด้วยอุปกรณ์ดังกล่าว ก่อนที่จะดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำลายและปัสสาวะซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการคิดค้นอุปกรณ์พกพานี้ โดยการทดสอบจะมีขึ้นในโรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา และหากการทดสอบเป็นไปด้วยดี ทีมนักวิทยาศาสตร์จะขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาสำหรับการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวต่อไป เพื่อให้อุปกรณ์พกพานี้ออกสู่ตลาดภายใน 1 ปี
ที่มาข้อมูล: newatlas, ucsd, usnews, openaccessgovernment
ที่มาภาพ: ucsd
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech