วันนี้ (7 ธ.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจ ปปป. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุกตรวจค้นและตรวจยึดทรัพย์สิน ประกอบด้วย เงินสด 4,600,000 บาท ปืนออโตเมติกและปืนลูกโม่ 6 กระบอกพร้อมเครื่องกระสุนปืน 40 นัด โฉนดที่ดิน 6 ฉบับรถยนต์ 4 คัน รถจักรยานยนต์ 2 คันนาฬิกาโรเล็กซ์ 6 เรือน และกระเป๋าราคาแพง อีก 6 ใบ
ซึ่งเป็นของกลางในคดี โดยที่กลุ่มผู้ต้องหา เป็นข้าราชการระดับ 7 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยมีหมายจับศาลอาญาในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในข้อกล่าวหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น
นายภูมิวิศาล เกษมสุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผยว่า คดีนี้เกิดขึ้นจากการร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์ ที่ระบุใจความสำคัญถึงกระบวนการของผู้ต้องหา ซึ่งระบุว่า “ด้วยมีรายชื่อหนึ่งรายชื่อ อยู่ที่ฝ่ายบริหาร สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการจัดซื้อวัสดุ โดยวิธีเจาะจงกับร้านที่ร่วมกระทำความผิดบ่อยครั้ง แต่ละครั้งยอดนั้นไม่เกิน 100,000 บาท ที่อยู่ของร้านนั้น อยู่ที่เดียวกับบ้านของผู้ที่กระทำความผิดรายนี้ ขอให้ช่วยไปดำเนินการตรวจสอบให้หน่อย”
เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบพฤติกรรมของ นางรัตนาภรณ์ ว่า มีการกระทำที่เป็นการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างจริง
โดยนางรัตนาภรณ์ เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุจัดทำรายการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ จากนั้นก็เสนอรายการ ต่อนางจรรยา ซึ่งเป็น
หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และมีความสัมพันธ์เป็นแม่ของนางรัตนาภรณ์
ซึ่งนางจรรยา มีอำนาจในการอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างโดยตรง ซึ่งในกรณีนี้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจง กรณีงบประมาณไม่เกิน 100,000 บาท
เมื่อได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้วก็จะมีการสั่งซื้อพัสดุในนาม สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยสั่งซื้อจากบริษัทซึ่งมีนายอานนท์เป็นเจ้าของบริษัท และยังมีสถานะเป็นสามีของนางรัตนาภรณ์ เป็นลูกเขยของนางจรรยา
ในเบื้องต้น การตรวจสอบรายการจัดซื้อ จัดจ้าง ตลอดระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 จนถึงช่วงเดือน ส.ค.2566 พบการจัดซื้อจัดจ้าง รวม 89 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 8,865,640.15 บาท
พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาใช้การกระทำซ้ำๆ ข้อพิรุธคือมีเลขหนังสือเป็นเลขเดียวกันทั้งหมด และการกระทำของนางจรรยา กับ กรรมการตรวจรับไม่สอดคล้องกัน ซึ่งในการตรวจสอบเชิงพบว่า เป็นการปลอมลายมือชื่อ ผู้อำนวยการและ กรรมการตรวจรับอีก 2 รายชื่อ ในทุกรายการที่ปลอมเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง
นอกจากนี้ พ.ต.ท.สิริพงษ์ ระบุว่า กรณีนี้มีช่องว่างทางระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้นางจรรยา พบช่องทางในการทุจริตคือใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการเฉพาะเจาะจงงบประมาณไม่เกิน 100,000 บาท และเลือกซื้อรายการ วัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์แบบชิ้นเล็กๆ ประเภทสิ้นเปลือง เช่น น้ำยาเคมี ชุดตรวจสารคัดหลั่ง ซึ่งเหล่านี้เป็นวัสดุชิ้นเล็กสิ้นเปลืองและมีราคาสูง
ผู้ต้องหาสามารถกระทำการได้แต่เพียงผู้เดียวมาตลอดหลายปีเพราะมีอำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้แต่เพียงผู้เดียว
ส่วนการขยายผล ผู้เกี่ยวข้อง คือบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์การแพทย์ คือ พบพฤติกรรมการซื้อซ้ำๆ กับบริษัทเดิม 2 บริษัท
ในบริษัทแรกซึ่งมีสามีของนางรัตนาภรณ์ เป็นเจ้าของ เปิดดำเนินการ ปี 2554 ในปีงบประมาณ 2566 พบการซื้อ 44 ครั้ง รวม 153 รายการ เป็นเงิน มากกว่า 4,300,000 บาท
อีกบริษัทเปิดดำเนินกิจการในปี 2556 พบการสั่งซื้อ 45 ครั้ง เป็นเงินมากกว่า 4,400,000 บาท ซึ่งบริษัทมีนี้นางรัตนาภรณ์เป็นเจ้าของบริษัทเอง
นายภูมิวิศาล เปิดเผยว่า นางจรรยารับข้าราชการที่สถาบันชีววิทยาวิทยาศาสตร์ มานานกว่า 30 ปีแล้ว จึงมีการตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปี ในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยย้อนหลังไปปี 2556 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันพบมีการจัดซื้อจัดจ้าง 721 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้นมากกว่า 51,300,000 บาท
ขณะที่ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังได้รับการร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้รีบประสานงานกับทาง ป.ป.ท.ให้ตรวจสอบในทันที เมื่อผลการตรวจสอบออกมาแล้วในเบื้องต้นก็ยอมรับว่าได้สร้างความเสียหายต่อรัฐจำนวนมาก ยืนยันว่า หลังจากนี้จะยังมีการขยายผลว่า มีใครรู้เห็นหรือได้ผลประโยชน์กับกลุ่มผู้ต้องหาด้วยหรือไม่ หากพบก็จะไม่มีการละเว้นเด็ดขาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
จับข้าราชการ ซี 7 ร่วมลูกสาว-ลูกเขย ทำเอกสารทิพย์เบิกงบฯ เสียหาย 28 ล้าน