วันนี้ (8 ธ.ค.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมงาน Google Digital Samart Thailand พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Uplift Thai Economy; Empower Digital Samart Thailand
นายเศรษฐา กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง Google และรัฐบาลในวันนี้ เป็นผลสำเร็จจากภาคธุรกิจและภาคประชาชนที่มีการนำเทคโนโลยีของ Google มาใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวัน พร้อมกล่าวชื่นชม Google ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านดิจิทัล และยังใส่ใจในความแตกต่าง หลากหลายของผู้คนในสังคม หน่วยงานในภาครัฐ และธุรกิจต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมทั้งผลิตภัณฑ์ โครงการ และการลงทุนต่าง ๆ ของ Google โดยเฉพาะในด้าน AI และ Cloud ตอบโจทย์พันธกิจที่จะไม่ทิ้งคนไทยไว้ข้างหลัง (Leave No Thai Behind) ของ Google จะสามารถช่วยพัฒนาคนไทยและธุรกิจไทยได้
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Uplift Thai Economy; Empower Digital Samart Thailand
สำหรับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล นายกฯให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงรุกดำเนินนโยบายเร่งด่วนมาโดยตลอด เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีให้พี่น้องประชาชน และท่ามกลางความท้าทายของสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน นายกฯได้ออกไปเชิญชวนนักธุรกิจทั่วโลก ประกาศให้โลกรู้ว่าประเทศไทย เปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจ (open for business)
รัฐบาลจะทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นจุดหมายของการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำ ยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล นำ AI และ Cloud เข้ามาพัฒนาการให้บริการประชาชน นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง (High Value Economy)
นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงความร่วมมือดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายมิติ โดยในการเดินทางไปประชุม UNGA ที่สหรัฐฯ ได้พบปะหากับคณะผู้บริหารของ Alphabet และ Google เพื่อหารือถึงความร่วมมือระหว่าง Google และรัฐบาล ในการยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศไทย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้ทำงานเชิงรุกร่วมกันอย่างแข็งขัน จนนำไปสู่การทำ MOU ความร่วมมือที่ได้ประกาศในระหว่างการประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโก
ครอบคลุมทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การต่อยอดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น การลงทุนขยาย Data Center ในประเทศไทย 2) การส่งเสริมการใช้ Cloud และ AI อย่างมีความรับผิดชอบและปลอดภัย เพื่อยกระดับการให้บริการของภาครัฐ 3) การวางหลักเกี่ยวกับนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policy) และ 4) การทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้มากขึ้น
รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Go Cloud First) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างแข็งแรงในยุคเศรษฐกิจ AI โดยได้จัดทำนโยบายและแผนเพื่อเป็นกรอบการขยายการใช้งาน Cloud และเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเน้นการใช้งาน Public Cloud และ Private Cloud ที่มีมาตรฐานในการดูแลข้อมูลของภาครัฐ
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้เร่งขับเคลื่อนนโยบายที่เน้นการบูรณาการเทคโนโลยี Cloud กับการดำเนินงานของภาครัฐให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว โดยอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป ทั้งหมดนี้ นอกจากจะเร่งให้เกิดการยกระดับการให้บริการในภาครัฐแล้ว ยังจะยกระดับขีดความสามารถของไทย ให้เป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนในระบบ Cloud ของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลกด้วย
สำหรับเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ รัฐบาลกำลังวางแนวทางจัดทำแผน Cyber Security ในหน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีมาตรฐาน ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติได้เดินหน้าการทำงานไปแล้ว และต้นปีหน้าก็จะได้เห็นแผนการทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ด้านการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล นายกฯยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือระหว่าง Google กับกระทรวงและหน่วยราชการ ซึ่งจะพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและหน่วยงานภาครัฐ ทำให้การบริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วยการเริ่มโครงการนำร่องในการใช้ Generative AI ในภาครัฐ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ความร่วมมือเหล่านี้เป็นผลสำเร็จของการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือกับ Google และกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอื่น ๆ ของโลก ทั้งในเรื่อง AI, Cloud, และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมเน้นย้ำว่า การดำเนินการเชิงรุกของรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ที่นำโดย AI และ Cloud จะเป็นไปอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง
ด้าน แจ็คกี้ หวัง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา Google ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริม การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย เราดีใจเป็นอย่างมากที่ได้ทราบว่า การที่ธุรกิจต่างๆ ในไทยนำผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ทำงานด้วยระบบ AI ของ Google ไปใช้ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.5 แสนล้านบาทในปี 2565
แจ็คกี้ หวัง Country Director, Google ประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจถึง 7.4 หมื่นล้านบาท และสนับสนุนการจ้างงานในประเทศทั้ง ทางตรงและทางอ้อมกว่า 250,000 ตำแหน่ง นี่เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงพลังของเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสใหม่ๆ และเราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดีจิทัลไทยในระยะยาว
ด้าน Karan Bajwa, Vice President, Asia Pacific, Google Cloud กล่าวว่า จากผลวิจัยของเราพบว่า หากภาคส่วนและองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยนำนวัตกรรม Al มาใช้งาน จะสามารถปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาทภายในปี 2573
Karan Bajwa, Vice President, Asia Pacific, Google Cloud
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมนั้นยังขาดความสามารถในการปรับขนาดและความยืดหยุ่นเพื่อรองรับความต้องการด้าน AI ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถของเทคโนโลยี Cloud Al ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานระดับองค์กรโดยเฉพาะ กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม ดังนั้น เราจึงได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการร่างนโยบาย Go Cloud First เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนขึ้นสำหรับองค์กรต่างๆ ในการเข้าถึงความสามารถเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว
ด้าน ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย Country Marketing Manager, Google ประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการช่วยให้คนไทยมีส่วนร่วมในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศมากยิ่งขึ้น จึงมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อมอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพเพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ภายใต้โครงการ Samart Skill
เราเชื่อว่าการเพิ่มศักยภาพให้กับประชาชน และธุรกิจด้วยทักษะดิจิทัลควบคู่ไปกับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยจะทำให้เราสามารถสร้างอนาคตที่สดใส สำหรับทุกคนได้ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาครัฐและพาร์ตเนอร์ของเราทำให้เราช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะดิจิทัลได้มากขึ้น และเราหวังว่าจะได้สนต่อความร่วมมือนดีนี้ต่อไปในอนาคตเพื่อช่วยปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับคนไทยให้ได้มากยิ่งขึ้น