วันนี้ (9 ธ.ค.2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นค่าแรง มีมติอนุมัติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 77 จังหวัด 2-16 บาท ว่า เป็นการปรับขึ้นที่น้อยมาก เพราะค่าครองชีพก็สูงขึ้นทุกวัน ซึ่งรัฐบาลก็พยายามทำหลายวิธีแล้วเพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งลดค่าไฟ พักหนี้เกษตรกร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
ขณะเดียวกันการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมีประชาชนกว่า 10 ล้านคน ต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งต่างจังหวัดขึ้นเพียง 7 ถึง 12 บาท ขณะที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ประเทศไทย มีอุตสาหกรรมไฮเทค และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเดินทางไปต่างประเทศ และดึงให้บริษัทยักษ์ใหญ่มาลงทุน ซึ่งผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ตนต้องขอวิงวอนอ้อนวอน เพราะกลุ่มแรงงานเป็นผู้ที่ถูกผลกระทบเยอะที่สุด
การขึ้นรายได้เป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่มากดค่าจ้าง แล้วนายจ้างเองไม่ได้พัฒนา โดยรัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือเปิดตลาดใหม่ๆ ให้ ซึ่งนายจ้างเองปัจจุบันก็ได้ประโยชน์
ฉะนั้นวันนี้ถึงเวลาแล้ว และเราจะยอมหรือ ที่ทำให้แรงงานไทย ค่าแรงต่ำติดดินอย่างนี้ อย่างประเทศใกล้เคียง ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ค่าแรงขั้นต่ำเกือบ 1,000 บาท แล้วจะยอมให้แรงงานไทยเป็นแรงงานขั้น 2 ขั้น 3 ของโลกหรือ ซึ่งทุกอย่างต้องทำควบคู่กัน หากทำอย่างเดียวมันเป็นไปไม่ได้หรอก พร้อมยืนยันว่าจะต้องทบทวนมติดังกล่าวใหม่
ส่วนแนวทางการพูดคุยจะเป็นเช่นไรนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เดี๋ยวต้องมาดู เพราะตนเพิ่งทราบข่าวเมื่อวานนี้ ก่อนย้อนถามสื่อมวลชนว่า มีเหตุมีผลหรือไม่ หากพูดถึงองค์รวมการทำธุรกิจ ไม่ใช่ว่าจะขึ้นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการอย่างเดียว แต่เราต้องพูดถึงรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น อย่างโครงการลดค่าไฟ ผู้ประกอบการก็ได้ประโยชน์ ถึงเวลาต้องคืนให้กับผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในภาคการผลิตหรือเปล่า อันนี้ก็มาคิดกัน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาหลายปีแล้ว แต่ครั้งนี้ปรับเพียง 2 บาท นายกฯ ตอบกลับว่า “นั่นสิครับ ผมก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน” อย่างเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยพูดคุยถึงเรื่องนิคมอุตสาหกรรม และเร่งรัดการท่องเที่ยว เช่น การเปิดด่านสะเดา ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการอยู่แล้ว ตนก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมถึงมีการปรับขึ้นค่าแรงเพียง 2 บาท ตนก็ขอวิงวอนไว้ด้วย
ผมไม่สบายใจเป็นอย่างมาก ต้องขอความเป็นธรรมให้กับแรงงาน เพราะหากเราติดกับดักรายได้ต่ำเช่นนี้ มันไม่โอเค ซึ่งหลังจากนี้ผมก็จะคุยกับคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นค่าแรง เพราะเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้อยู่แล้ว
ส่วนควรมีการปรับขึ้นค่าแรงเท่าไหร่นั้น นายเศรษฐา มองว่า ต้องขึ้นสูงกว่านี้ และฟังเหตุฟังผล อย่างที่บอก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นเพียง 2 บาท ซื้อไข่ลูกหนึ่งยังไม่ได้เลย ส่วนที่ผู้ประกอบการอ้างว่า เศรษฐกิจตกต่ำนั้น รัฐบาลเองก็มีมาตรการช่วยเหลือ และมีการสร้างโครงข่ายทางธุรกิจ
ส่วนกังวลหรือไม่ว่าจะมีการย้ายฐานการผลิต นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่มีใครย้ายฐาน จะผลิตจากการขึ้นค่าแรง 300 เป็น 400 บาท เพราะเรามีมาตรการสนับสนุนทางด้านภาษี เพราะเรามีหลายๆ อย่างที่ดี
หากไม่ช่วยกันมันจะไปลำบาก หากเปิดทำการจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ และเมื่อสักครู่ได้พูดคุยกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย และ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งทุกท่านมีความกังวลหมด และหากดูสามัญสำนึก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นไปกี่บาท 2 บาท ใจเขาใจเรา
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี อยากได้ 400 ตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศไว้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ระบุว่า ดูตามความเหมาะสม จังหวัดใหญ่ๆ อาจถึง 400 บาท
เมื่อถามว่าจะอธิบายอย่างไรให้คณะกรรมการไตรภาคีเข้าใจ และจะไม่เกิดการประท้วง นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ให้ความสำคัญและแสดงความคิดเห็นที่ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่อยู่ดีดีจะเอาภาระ ผลักให้ผู้ประกอบการ พร้อมยืนยันว่า วันนี้ไม่ได้หาเสียง เพราะการหาเสียงมันจบไปแล้ว แต่เราพูดถึงความเป็นจริงว่าเราต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
อย่างไรก็ตามนายเศรษฐา ระบุว่า ตนต้องขอดูรายละเอียดข้อกฎหมาย ว่าจะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือไม่ และหากต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ตนไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน ตนเชื่อว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ดูเรื่องความเหมาะสมเป็นนโยบายของรัฐบาล
เมื่อถามว่านายกฯ ไม่พอใจกับกรณีดังกล่าวใช่หรือไม่ นายกฯ ปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวกัน แต่การเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องดูแลประชาชน เพราะต้องดูแลทั้ง 68 ล้านคน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เคาะค่าแรงขั้นต่ำ "ภูเก็ต" สูงสุดวันละ 370 ต่ำสุด 3 จว.ใต้ 330 บาท
จับกระแสการเมือง 8 ธ.ค.66 : หยุดค้าทาสยุคใหม่ “ปลดหนี้คนจน” ฤาแค่ฝันลม ๆ นายกฯนิด