ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทำไม ? “โซเชียลมีเดีย” จึงไม่เท่ากับ “อินเทอร์เน็ต”

Logo Thai PBS
ทำไม ? “โซเชียลมีเดีย” จึงไม่เท่ากับ “อินเทอร์เน็ต”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เมื่อ “อินเทอร์เน็ต” และ “โซเชียลมีเดีย” เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตมนุษย์จนแทบจะแยกกันไม่ออก สิ่งนี้อาจนำมาสู่ความเข้าใจผิด ๆ ที่ทำให้เราไม่เข้าใจเทคโนโลยีจนตกเป็นเหยื่อของข้อมูลผิด ๆ และลดทอนกระบวนการคิดได้

“According to the Internet” หรือ “ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต” เป็นวลีที่ถูกนำมาใช้ล้อเลียนหรือเสียดสีการลดทอนขั้นตอนการค้นหาข้อมูล โดยการบอกว่าข้อมูลดังกล่าวได้มาจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งเราอาจเคยได้ยินคำในลักษณะเดียวกันบอกว่า “ข้อมูลจากในเฟซบุ๊ก” หรือ “คลิปในยูทูบบอกว่า” ซึ่งไม่ได้บอกอยู่ดีว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน

ข้อมูลจาก Similar Web รายงานเว็บไซต์ที่มีจำนวนผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ Google, YouTube, Facebook, X (Twitter) และ Instagram ตามลำดับเราจะเห็นว่า อันดับที่ 2-5 ล้วนเป็นเว็บไซต์แพลตฟอร์มเนื้อหา และโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ดีสำหรับกรณีของ Google ซึ่งเป็นเว็บไซต์อันดับ 1 นั้น เป็นเว็บไซต์เสิร์ชเอนจินสำหรับหาข้อมูล ซึ่งมีคำค้นหาอันดับหนึ่งได้แก่ YouTube และ Facebook อยู่ดี จากข้อมูลนี้ทำให้เราสามารถสรุปได้ว่า พฤติกรรมของผู้คนในปัจจุบัน มีการใช้งานเว็บในลักษณะแพลตฟอร์มสูงมากเป็นอันดับหนึ่ง

ข้อมูลนี้อาจนำมาซึ่งการที่เราเชื่อว่า อินเทอร์เน็ตคือ YouTube, Facebook หรือ Instagram ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงเป็นอย่างมาก งานวิจัยของ PEW Reserach Center ตั้งแต่ปี 2014 ได้เคยรายงานว่า กลุ่มตัวอย่างสามในสี่เข้าใจว่าอินเทอร์เน็ต กับ เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) เป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

ในบทความนี้ สิ่งแรกที่เราต้องทำความเข้าใจกันก็คือ “อินเทอร์เน็ต” ไม่เท่ากับโซเชียลมีเดีย อินเทอร์เน็ตคือโครงข่ายของการนำเอาคอมพิวเตอร์หลาย ๆ เครื่องมาผูกโยงกันเพื่อให้สามารถส่งข้อมูลต่าง ๆ หากันได้ โดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “โปรโตคอล” การสื่อสารต่าง ๆ เช่น อีเมล ก็จะมีโปรโตคอลของอีเมล ในขณะที่เวิลด์ไวด์เว็บเป็นเพียงแค่โปรโตคอลหนึ่งในการสื่อสารเท่านั้น

เทคโนโลยีเวิลด์ไวด์เว็บเป็นการสื่อสารด้วยข้อมูลในลักษณะมัลติมีเดีย คือการนำสื่อหลาย ๆ ชนิดเช่น ภาพ เสียง ตัวอักษร หรือวิดีโอมาใช้ร่วมกัน ใครก็ตามที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ก็สามารถที่จะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสร้างเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นมาได้

วัตถุประสงค์แรกของการสร้างเวิลด์ไวด์เว็บขึ้นมาก็เพื่อแชร์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักวิจัยต่าง ๆ ทั่วโลก ทิม เบอร์เนิร์ส ลี (Tim Berners-Lee) ได้สร้างเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาในปี 1989 เกิดเป็นเว็บไซต์ของ CERN สถาบันวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคของยุโรปนั่นเอง

ในช่วงปี 2000 เป็นต้นมา เว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เช่น เว็บไซต์ Amazon ที่เป็นร้านค้าออนไลน์ ซึ่งก่อตั้งโดยเจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) หรือเว็บไซต์ PayPal ก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ไว้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการชำระเงิน

รวมถึงเว็บไซต์ประเภทเว็บบอร์ด อันเป็นกระดานสนทนาเปิดให้ผู้คนมาพูดคุยกัน เช่น Reddit ในสหรัฐอเมริกา หรือ Pantip ในประเทศไทย

โซเชียลมีเดียในช่วงแรก คือเว็บไซต์ประเภทหนึ่งที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาพูดคุยหรือติดต่อสื่อสารกันได้ เช่น Facebook หรือ Myspace โดยไม่จำเป็นต้องมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง หรือมีความรู้ด้านโปรโตคอลการสื่อสารผ่านเว็บ จนเมื่อเวลาผ่านไป โลกได้รู้จักกับสมาร์ตโฟนและแอปพลิเคชัน ซึ่งโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook หรือ X (Twitter) ก็ได้สร้างแอปพลิเคชันของตัวเอง และทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต

ในขณะที่โลกนี้ยังมีเว็บไซต์อีกมากมาย หลากหลายวัตถุประสงค์ แต่น่าทึ่งที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ยังถูกผูกติดอยู่กับแพลตฟอร์มอย่าง Facebook หรือ Instagram อยู่ ราวกับว่าอินเทอร์เน็ตนั้นเกิดมาเพื่อให้มีโซเชียลมีเดีย

เราจะสังเกตได้ว่าเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นเพียงแค่บริการหนึ่งที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ซึ่งใคร ที่ไหน ก็สามารถที่จะนำข้อมูลอะไรมาใส่ก็ได้ หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ ใคร ๆ ก็สามารถที่จะสร้างเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นมาได้

ในโลกยุคปัจจุบันโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ (Misinformation) ต่าง ๆ ในขณะที่ทุกคนก็สามารถสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเองได้ และจะทำอย่างไรก็ได้กับข้อมูลส่วนตัวของเราที่เราเองเป็นผู้หยิบยื่นให้กับผู้อื่นเอง การรู้เท่าทันเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก

ในปัจจุบันตัวอินเทอร์เน็ตเองเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้อย่างหลากหลาย เช่น การโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือการควบคุมอุปกรณ์ในบ้านผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Internet of Things ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่าอินเทอร์เน็ตคือโปรโตคอลการสื่อสารประเภทหนึ่ง ไม่ใช่โลกอีกโลกหนึ่ง ดังนั้นคำว่าโลกออนไลน์ หรือโลกอินเทอร์เน็ต จึงเป็นคำที่อาจไม่มีจริง และไม่สามารถถูกนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนสังคมออนไลน์ได้

และด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้จึงทำให้เราต้องย้ำข้อสรุปที่สำคัญมาก ๆ ว่า “โซเชียลมีเดีย” ไม่เท่ากับ “อินเทอร์เน็ต” และ “เว็บไซต์” กับ “อินเทอร์เน็ต” เป็นคนละอย่างกันโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

ที่มาข้อมูล: pewresearch, similarweb

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง