ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขคำตอบ! "ฝุ่นพิษ" กทม.อากาศปิด-เผาพท.เกษตรอ่วมอีก 5 วัน

สิ่งแวดล้อม
12 ธ.ค. 66
18:08
4,269
Logo Thai PBS
ไขคำตอบ! "ฝุ่นพิษ" กทม.อากาศปิด-เผาพท.เกษตรอ่วมอีก 5 วัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไขคำตอบ! อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ชี้ PM2.5 "ฝุ่นพิษ" คลุมกทม.-ปริมณฑล เหตุสภาพอากาศปิดจนมีสภาพฝาชีครอบ และรอบพื้นที่เริ่มเผาพท.เกษตรจนควันลอยเข้าเมือง ยังอ่วมอีก 5 วันถึง 17 ธ.ค.นี้ แจงเหตุยังไม่ประกาศ WFH-ลดจราจร

วันนี้ (12 ธ.ค.2566) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในกทม.และปริมณฑลสูงขึ้นระดับสีส้มจนเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพมากถึง 70 กว่าพื้นที่ว่า เกิดจากความกดอากาศต่ำ และสภาพอากาศนิ่ง ส่งผลให้ฝุ่นจากแหล่งกำเนิดไม่สามารถระบายได้จนถูกกดทับอยู่ในแต่ละพื้นที่ โดยหลังจากนี้จากโมเดลการคาดการณ์จะมีแนวโน้มจะรุนแรงช่วงวันที่ 14–15 ธ.ค.นี้ 

อธิบดีคพ. กล่าวอีกว่า เนื่องจากใน กทม.มีแหล่งกำเนิดฝุ่นจากการจราจร และอุตสาหกรรม และในช่วงนี้เริ่มพบจังหวัดต่างๆ รอบพื้นที่กทม.มีการเผาในที่โล่งเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบให้ฝุ่น PM 2.5 จะสูงขึ้นถึง 2 เท่าจากช่วงเวลาปกติ เพราะลมพัดควันไฟเหล่านั้นเข้ามาในเขตเมือง ประกอบกับอาจได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนของประเทศเพื่อนบ้านด้วย

กทม.และปริมณฑล จำเป็นต้องเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 สะสมในพื้นที่จากความกดอากาศต่ำกดทับในรูปแบบฝาชีครอบไปอีก 5 วันจนถึง 17 ธ.ค.นี้ จากนั้นสัปดาห์หน้าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น เพราะมีลมพัดแรงขึ้นช่วยให้อากาศระบายฝุ่นที่สะสมให้กระจายตัว

อ่านข่าว วันนี้ ฝุ่น PM 2.5 กทม.พบเกินมาตรฐาน 66 พื้นที่ เริ่มมีผลต่อสุขภาพ

สภาพการจราจรในกทม.ที่ยังติดขัดเป็นหนึ่งในปัจจัยฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน

สภาพการจราจรในกทม.ที่ยังติดขัดเป็นหนึ่งในปัจจัยฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน

สภาพการจราจรในกทม.ที่ยังติดขัดเป็นหนึ่งในปัจจัยฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน

กทม.อากาศปิดอีก 5 วัน-จมฝุ่น

เมื่อถามว่าทำไม กทม.ยังไม่มีการประกาศมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นตามที่วางแผนไว้ นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ตามแผนแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งในกทม.กำหนดว่าหากฝุ่นเกินค่าสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ต่อเนื่อง 3 วันติดจะขอความร่วมมือ WFH เบื้องต้นมีการประสานไว้ 100 บริษัทแล้ว รวมทั้งต้องลดการใช้รถส่วนบุคคลด้วย

อธิบดีคพ. กล่าวว่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการจราจรและขนส่ง จึงต้องลดฝุ่นจากจราจรลงให้ได้มากที่สุด ด้วยการหันมาใช้น้ำมันยูโร 5 ที่ไทยเริ่มปรับมาใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ผ่านมาจะช่วยค่าฝุ่นในกทม.ลงได้ถึงร้อยละ 20 ถือเป็นค่าจ่ายเพื่อสุขภาพ ควบคู่กับบำรุงรักษาเครื่องยนต์และตรวจเช็คสภาพรถยนต์ให้ดีจะช่วยลดการเกิดฝุ่นลงได้ร้อยละ 50 และป้องกันไฟจากการเผาในที่โล่งจากรอบนอกเขตเมืองได้อย่างไร

ถ้าอากาศปิด กทม.ค่าฝุ่น PM2.5 จะกระโดดขึ้น 2 เท่าทันที เนื่องจากเข้าช่วงฤดูหนาว และมีเรื่องจุดความร้อนรอบพื้นที่ ที่ต้องโฟกัส ลดฝุ่นจากการจราจร และลดไฟจากการเผา
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

แนะติดตามผ่านแอป Air4Thai-AirBKK 

ด้าน ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กล่าวว่า ได้กับให้คพ.สื่อสารกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบข้อมูลจากการพยากรณ์ฝุ่น PM 2.5 ล่วงหน้า เพื่อให้เตรียมแผนรับมือและปฏิบัติตามช่วงฝุ่นสูงขึ้น เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมประชาสัมพันธ์ ฝ่ายปกครอง เพื่อให้แต่ละจังหวัดหรือแต่ละพื้นที่มีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม

เนื่องจาก คพ.มีการประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลแบบรายวัน และรายสัปดาห์ สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด คพ.จะส่งหนังสือแจ้งเตือนประสานข้อมูลแหล่งกำเนิดจุดความร้อน (Hotspot) ในแต่ละพื้นที่เพื่อควบคุมได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ ขอความร่วมมือประชาชนติดตามข้อมูลฝุ่น PM 2.5 ผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน Air4thai และ AirBKK เท่านั้น เพราะมีการพยากรณ์ที่แม่นยำ 70–80% ได้มาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับ และเป็นสีมาตรฐานที่ผูกกับมาตรการคุณภาพอากาศของประเทศไทย

สภาพการจราจรในกทม.ที่ยังติดขัดเป็นหนึ่งในปัจจัยฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน

สภาพการจราจรในกทม.ที่ยังติดขัดเป็นหนึ่งในปัจจัยฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน

สภาพการจราจรในกทม.ที่ยังติดขัดเป็นหนึ่งในปัจจัยฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน

เตือนค่าฝุ่น “สีแดง” โพลชี้ 66% ประชาชนกังวล  

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 วัดค่า 82.7 มคก.ต่อลบ.ม. และพบว่าเกินมาตรฐานในทุกภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

โดยสถานการณ์ PM2.5 อยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ รวม 27 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี ระยอง หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และยโสธร รวมทั้งกทม.

อ่านข่าว เลี่ยงนำ "เด็กเล็ก"ออกจากบ้าน PM2.5 เกินมาตรฐานทุกพื้นที่กทม.

นอกจากนี้พบ PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ 2 พื้นที่ ได้แก่ ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย และต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ และเวลา 12.00 น. ยังพบค่า PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) 2 พื้นที่ ได้แก่ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ และริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม

สาเหตุเกิดจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตร การคมนาคม ประกอบกับสภาพอากาศปิด อัตราการระบายอากาศไม่ดี ทำให้ฝุ่นละอองเกิดการสะสมในบรรยากาศ จนอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

นพ.อรรถพล กล่าวว่า ผลสำรวจอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 1 พ.ย.–5 ธ.ค.นี้ มีผู้ตอบ 1,303 คน มีความกังวลว่า PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว 66% โดยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการดูแลก่อน ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว 38% ผู้ทำงานกลางแจ้ง 19% และเด็กเล็ก 14% 

ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตรวจเยี่ยมศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ

ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตรวจเยี่ยมศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ

ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตรวจเยี่ยมศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ

แนะกลุ่มเสี่ยงเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง

สำหรับกลุ่มเสี่ยงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็ก เนื่องจากหายใจเร็ว พฤติกรรมของเด็กชอบเล่นในที่กลางแจ้ง มีโอกาสรับฝุ่นปริมาณมาก สำหรับผู้สูงอายุ พบว่าฝุ่น PM2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเพิ่มเป็น 1.5 เท่า หญิงตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 อายุครรภ์24 - 42 สัปดาห์ ถ้าได้รับฝุ่นมลพิษ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้

และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืด ซึ่งผู้ป่วยโรคหอบหืด จะมีความไวต่อการกระตุ้นจาก ฝุ่น PM2.5
หรือสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ ทำให้มีสมรรถภาพปอดลดลง และเกิดอาการกำเริบได้

กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวควรสวมหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่น ควรเป็นหน้ากากอนามัยปกติ สำหรับหน้ากาก N95 หากต้องการใส่เพื่อป้องกันฝุ่น ไม่แนะนำให้ใส่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพราะหน้ากาก N95 ถูกออกแบบมาให้แนบสนิทกับใบหน้า ทำให้ต้องออกแรงหายใจมากขึ้น เมื่อใส่เป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้รู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวกแน่นหน้าอก เมื่อยล้า หรือปวดศีรษะได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง