ปัจจุบันคงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบนำทางอย่าง GPS ถูกใช้งานอย่างครอบคลุมทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะงานเล็กอย่างการนำทางในการเดินทางของบุคคลทั่วไป จนถึงการนำทางของเครื่องบินและกองทัพสมัยใหม่ ระบบนำทางบนโลกไม่ได้มีแค่ระบบ GPS เพียงระบบเดียวที่ใช้ในการนำทาง ปัจจุบันมีระบบดาวเทียมนำทางมากกว่า GPS หนึ่งในนั้นคือระบบ Galileo ระบบนำทางขององค์กรอวกาศยุโรปหรือ ESA ที่เริ่มต้นโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งปัจจุบันมีดาวเทียม Galileo ในโครงการมากถึง 28 ดวงที่กำลังปฏิบัติงานอยู่บนวงโคจร นับเป็นหนึ่งในโครงการระบบนำทางสมัยใหม่ที่ทันสมัยและแม่นยำที่สุดระบบหนึ่งของโลก
ปัจจุบันมีผู้ใช้งานระบบนำทางที่ใช้งานระบบ Galileo ร่วมด้วยกับ GPS อย่างน้อย 4 พันล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นระบบนำทางที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากที่สุดในโลก และเพื่อขยายขีดความสามารถของระบบนำทางของโลก ESA จึงพัฒนาดาวเทียมภายใต้ระบบ Galileo รุ่นใหม่ ชื่อ Galileo G2 หรือ Galileo รุ่นที่สอง (Second Generation) ซึ่งภายหลังจากการประกาศโครงการในช่วงปี 2022 ตอนนี้ยาน G2 รุ่นใช้งานจริงได้ผ่านการทดสอบระบบหลักของยานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งระบบกระจายสัญญาณ Galileo เพื่อการนำทางอุปกรณ์บนโลกและโครงสร้างหลักของยานผ่านการทดสอบมาตรฐานของ ESA เรียบร้อยแล้ว พร้อมสำหรับการเดินหน้าเพื่อปล่อยดาวเทียมชุดแรกในช่วงปลายปี 2024 และจะเพิ่มจำนวนดาวเทียมภายใต้ระบบ Galileo อีก 10 ดวง รวมเป็น 38 ดวง จะนับว่าเป็นเครือข่ายระบบนำทางที่มีจำนวนดาวเทียมมากที่สุดของโลก
ESA ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าดาวเทียมรุ่นใหม่นี้จะมีระบบนาฬิกาอะตอมที่แม่นยำขึ้นและทนทานต่อความเสียหายภายนอกอวกาศมากยิ่งขึ้น ติดตั้งระบบเสาส่งสัญญาณให้กับระบบบนโลกที่แรงขึ้น สามารถกระจายสัญญาณได้เสถียรขึ้น และมีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหรือ Ion Thruster สำหรับการขับเคลื่อน ทั้งนี้ ESA ออกแบบให้อายุการใช้งานของดาวเทียมอยู่ที่ 15 ปี
ดาวเทียม Galileo รุ่นใหม่นี้จะช่วยทำให้ระบบนำทางของอุปกรณ์บนโลกทำงานได้ดีขึ้น เสถียรขึ้น และมีความแม่นยำมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทุกกิจกรรมบนโลก เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและความสุขให้กับทุกคน
ที่มาภาพ: ESA
ที่มาข้อมูล: ESA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech